- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- การทำธุรกิจไซเบอร์ของคนรุ่นใหม่ใน OnlyFans ในยุคโควิด
การทำธุรกิจไซเบอร์ของคนรุ่นใหม่ใน OnlyFans ในยุคโควิด
เขียนโดย: ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์ Beartai.com
สำหรับในประเทศไทย มีครีเอเตอร์บน OnlyFans อยู่ประมาณ 1,200 คน ซึ่งมีทั้งเพศหญิง เพศชาย และเพศทางเลือก โดยคอนเทนต์เกือบทั้งหมดเป็นการนำเสนอเนื้อหาทางเพศอย่างชัดเจน ทั้งการแสดงเรือนร่างโป๊เปลือยและบันทึกกิจกรรมทางเพศในรูปแบบภาพนิ่งและคลิปวิดีโอ มีทั้งการเปิดเผยใบหน้าและการปกปิดใบหน้า โดยมีการกำหนดค่าธรรมเนียมสมาชิกรายเดือนตั้งแต่ 180 จนถึง 1,500 บาท ทำให้ OnlyFans เป็นช่องทางหารายได้ของคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “การทำธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ของคนรุ่นใหม่ใน OnlyFans” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการกักตัวอยู่ในเคหะสถาน ทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม เหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในสาเหตุให้คนหันมาใช้โลกออนไลน์ในการปรนเปรอความสุข รวมไปถึงปลดเปลื้องความต้องการทางเพศมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขผู้ใช้งานและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของ OnlyFans ที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในปี พ.ศ. 2563 และ 2564 เพราะมีราคาการสมัครสมาชิกเพื่อเข้าชมคอนเทนต์ที่ไม่แพงจนเกินไป และยังเป็นการปลดเปลื้องอารมณ์ทางเพศอย่างปลอดภัยจากการติดโรค
ขณะเดียวกันผู้ที่เคยมีรายได้จากการทำงานขายเรือนร่างซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดให้บริการของสถานบันเทิง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการหารายได้มาเป็นออนไลน์ หรือที่เรียกว่าธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ ความนิยมของเว็บไซต์ OnlyFans ก็เข้ามาอย่างถูกจังหวะ ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ปิดกั้นเนื้อหาด้านเพศ และสามารถสร้างรายได้ดีให้แก่คอนเทนต์ครีเตอร์ ประกอบกับในยุคที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์อย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพดี และมีราคาถูก ส่งผลให้การผลิตคอนเทนต์ออนไลน์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
เว็บไซต์ OnlyFans เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2559 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยผู้ก่อตั้งและซีอีโอชาวอังกฤษ ทิม สโตรกลีย์ (Tim Strokly) ตั้งใจให้เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการก้าวมาเป็นผู้ผลิตสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์ในรูปแบบวิดีโอ รูปภาพ และเสียง เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่ตนเองเชี่ยวชาญ อาทิ ดนตรี ฟิตเนส อาหาร แฟชั่น ความงาม และท่องเที่ยว เป็นต้น โดยผู้ที่ต้องการเข้าชมต้องสมัครสมาชิกแบบจ่ายต่อการรับชม (Pay-Per-View) ให้กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) ที่ต้องการติดตาม แต่ในภายหลังกลับกลายได้รับความนิยมในเรื่องเนื้อหาวาบหวิวสำหรับผู้ใหญ่แนว 18+ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง ไม่มีการปิดกั้นหรือเซ็นเซอร์เนื้อหา ข้อดีอีกอย่างคือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยังคงมีสิทธิ์เป็นเจ้าของคอนเทนต์และควบคุมคอนเทนต์ได้ด้วยตัวเอง (User Generated Content) โดยในปัจจุบัน OnlyFans มีคอนเทนต์ประเภทนี้มากถึง 70-80% ของแพลตฟอร์ม
ผู้ที่ต้องการสมัครเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของ OnlyFans สามารถสมัครเปิดบัญชีได้ฟรี โดยต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี ส่วนราคาการสมัครสมาชิก (Subscription) เพื่อเข้าไปชมคอนเทนต์ของคุณจะถูกตั้งค่าเริ่มต้นไว้ที่ฟรี จากนั้นคอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถกำหนดราคาสมัครสมาชิกได้เองตั้งแต่เดือนละ 4.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 164 บาท) จนถึงสูงสุดกำหนดไว้ไม่เกิน 49.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 1,648 บาท) ทั้งนี้คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะได้รับส่วนแบ่ง 80% และ OnlyFans จะได้รับส่วนแบ่ง 20%
จากข้อมูลของ Bloomberg (2021) ระบุว่าในระหว่างเดือนมกราคม ถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มต้นการระบาดของโรคโควิด-19 มียอดค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้งานจ่ายให้กับ OnlyFans พุ่งสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 67,000 ล้านบาท) โดยเป็นรายได้ของแพลตฟอร์ม 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,000 ล้านบาท) นับว่าเติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 540 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีจำนวนของครีเอเตอร์จากทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน
สำหรับในประเทศไทย มีครีเอเตอร์บน OnlyFans อยู่ประมาณ 1,200 คน ซึ่งมีทั้งเพศหญิง เพศชาย และเพศทางเลือก โดยคอนเทนต์เกือบทั้งหมดเป็นการนำเสนอเนื้อหาทางเพศอย่างชัดเจน ทั้งการแสดงเรือนร่างโป๊เปลือยและบันทึกกิจกรรมทางเพศในรูปแบบภาพนิ่งและคลิปวิดีโอ มีทั้งการเปิดเผยใบหน้าและการปกปิดใบหน้า โดยมีการกำหนดค่าธรรมเนียมสมาชิกรายเดือนตั้งแต่ 180 จนถึง 1,500 บาท ทำให้ OnlyFans เป็นช่องทางหารายได้ของคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม โดยเฉพาะหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายคนประสบปัญหาว่างงาน ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ หรือประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน
จากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์แนว 18+ คนไทยที่ผลิตเนื้อหาทางเพศใน OnlyFans ทั้งชาย หญิง และคู่ ยอมรับว่าสังคมไทยยังไม่เปิดใจยอมรับเรื่องนี้ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องปกปิดใบหน้าและตัวตน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับอาชีพหลัก ครอบครัว และการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ใน OnlyFans ยังมีการแข่งขันสูง ทำให้ครีเอเตอร์แต่ละคนต้องหาทางสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดใจกันมากขึ้น
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งสามคนที่เราสัมภาษณ์ยอมรับว่าเปิด OnlyFans เพราะหารายได้เสริมมากกว่าต้องการตอบสนองอารมณ์ทางเพศ ประกอบกับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น พวกเขารู้สึกว่าการโชว์ร่างกายที่เปลือยเปล่า หรือคลิปวิดีโอที่บันทึกกิจกรรมทางเพศเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง โดยไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ทั้งนี้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ยอมรับว่าทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย แม้จะเป็นงานที่ง่าย ได้ราคาดี แต่ทุกคนที่ก้าวเข้ามาทำธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ก็ต้องยอมรับผลกระทบที่จะเกิดตามมา หากคนรู้จักหรือสังคมรับรู้ รวมไปถึงการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายที่เกิดเป็นข่าวให้เห็นอยู่หลายครั้ง
รศ.ดร.อุษา บิ้กกิ้นส์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2563 ส่งผลเป็นอย่างมากในการทำให้ธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ใน OnlyFans เกิดการขยายตัว เนื่องจากมีจำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำคนส่วนใหญ่กักตัวอยู่กับบ้าน และเริ่มหาเงินทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ สรุปได้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ผลิตเนื้อหาทางเพศให้กับ OnlyFans มากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซา หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง และมีจำนวนคนตกงานมากขึ้น การขายเรือนร่างในคอนเทนต์ของ OnlyFans ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายในยุคปัจจุบันจึงเป็นวิธีการหารายได้เสริมของหลายคน ประกอบกับโรคระบาดทำให้ผู้คนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถออกไปเที่ยวสถานบันเทิงได้ จำนวนผู้สมัครใช้บริการ OnlyFans เพื่อเสพเนื้อหาทางเพศก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
ในยุคที่เกิดโรคระบาดและเศรษฐกิจถดถอย การขายเรือนร่างผ่านทางออนไลน์จึงกลายเป็นทางออกของหลายคน ซึ่งกลายเป็นแรงจูงใจของเยาวชนหรือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เนื่องจากทำงานง่ายและรายได้สูง ซึ่งอาจนำไปสู่การทำอาชีพที่ต้องใช้ร่างกายของตัวเอง (Sex Worker) และง่ายต่อการถูกล่อลวงให้เข้าไปพัวพันกับธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้ไม่หวังดีได้
การทำธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายอาญามาตรา 287 ในประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปกปิดใบหน้าและตัวตนของครีเอเตอร์เองก็ตาม เจ้าของคอนเทนต์และผู้แสดงในคอนเทนต์ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเพราะถือว่าความผิดสำเร็จไปแล้ว แม้ OnlyFans จะเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ แต่กฎหมายไทยสามารถเอาผิดแก่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เผยแพร่เนื้อหาทางเพศได้ เนื่องจากเป็นการโพสต์คอนเทนต์เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้กฎหมายเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดมากกว่าปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกหลอกลวงเข้าไปในธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์ รวมทั้งการถูกล่วงละเมิดทางเพศของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขายเรือนร่าง นอกจากนี้ยังมีความน่ากังวลและเป็นห่วงที่มีเยาวชนเริ่มเข้าไปทำธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างรายได้ที่ง่าย ได้แรงเสริมทางบวกจากผู้ติดตามทางโลกออนไลน์ และค่านิยมทางสังคมยุคใหม่ที่เยาวชนมองเรื่องการเปิดเผยเรือนร่างเป็นสิทธิ์ที่ชอบธรรม
กฎหมายมาตรา 287 จึงสมควรได้รับการแก้ให้เข้ากับยุคสมัย เน้นการใช้กฎหมายในเชิงการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในธุรกิจไซเบอร์เซ็กส์มากกว่าตามจับกุมตัวคอนเทนต์ครีเอเตอร์ อีกทั้งสถาบันการศึกษาและหน่วยงานทางด้านเยาวชนควรเน้นพื้นฐานเรื่องเพศศึกษาตั้งแต่เด็ก เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับคนยุคใหม่ รวมไปถึงการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้ใช้โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญคือการให้เยาวชนรับรู้เรื่องโทษจากการทิ้งร่องรอยไว้ในอินเทอร์เน็ต (Digital Footprint) ว่าอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาต่อไปในอนาคต