- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวเผยแพร่
- การแสดงผลข้อมูลแบบประยุกต์ด้วยภาพ กับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทย
การแสดงผลข้อมูลแบบประยุกต์ด้วยภาพ กับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทย
"...Data Visualization คือการนำข้อมูลในเชิงปริมาณ ทั้งที่จัดเก็บไว้ในรูปแบบของข้อมูลจำนวนน้อย และข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) มาประมวลผล จากนั้นจึงนำมาแสดงผลในรูปแบบของกราฟ แผนภูมิอินฟอร์เมชันกราฟิค หรือแม้กระทั่งอินเทอร์แอคทีฟกราฟิก ที่ผู้บริโภคสามารถคลิกหรือมีปฏิสัมพันธ์กับกราฟิกนั้น ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันสื่อหลายสำนักในประเทศไทย เริ่มมีการนำเสนอข่าวโดยการนำข้อมูลแบบประยุกต์ด้วยภาพ (Data Visualization)..."
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “การแสดงผลข้อมูลแบบประยุกต์ด้วยภาพ (Data Visualization) กับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทย” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราในทุกย่างก้าว ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ในระยะเวลาอันสั้น และยังสามารถส่งต่อข้อมูลถึงกันได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารออกสู่สังคม นอกจากจะต้อง สืบค้น กลั่นกรอง และวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ยังต้องมีวิธีการสื่อสารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่นำเสนอข่าวในเชิงความคิดเห็นหรือเพียงแค่นำบทสัมภาษณ์จากแหล่งข้อมูลมาสนับสนุนบทความเท่านั้น
แต่การนำเสนอข่าวโดยมีข้อมูลซึ่งข้อเท็จจริงและหลักฐานมาสนับสนุน (Evidence-based) ให้เห็นในเชิงประจักษ์ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้บทความที่ต้องการนำเสนอ ท่ามกลางข้อมูลที่ท่วมท้น และการใช้ชีวิตของคนในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร (Information Age) เฉกเช่นปัจจุบัน
การใช้พลังของข้อมูลในการดำเนินเรื่องแทนการทำข่าวในรูปแบบเดิม นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับคนทำข่าวแล้ว ข้อมูลที่สืบค้นอาจจะทำให้พบประเด็นและมุมมองในการเขียนเรื่องใหม่ ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น การมีทักษะในด้านการจัดการข้อมูลที่ดี ถือเป็นทักษะที่สื่อมวลชนควรมีในอนาคต เนื่องจากข้อมูลเปิดสาธารณะ (Open Data) มีอยู่ทั่วโลก คนทำคอนเทนต์และข่าวไม่เพียงต้องสืบค้นข้อมูลเพื่อนำเสนอบทความหรือข่าวเท่านั้น แต่ต้องรู้จักวิธีการเล่าเรื่อง รู้ว่าควรจะใช้ข้อมูลแบบไหนในการดำเนินเรื่องราว
เราอาจจะต้องยอมรับว่าในปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้ต้องการอ่านบทความที่มีแต่เนื้อหาที่เข้มข้น แต่พวกเขาต้องการเรื่องราวสรุปย่อ ที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องอ่านบทความมากกว่า 1,000 คำในคราวเดียว ซึ่ง Data Visualization อาจเป็นคำตอบในเรื่องนี้
Data Visualization คือการนำข้อมูลในเชิงปริมาณ ทั้งที่จัดเก็บไว้ในรูปแบบของข้อมูลจำนวนน้อย และข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) มาประมวลผล จากนั้นจึงนำมาแสดงผลในรูปแบบของกราฟ แผนภูมิอินฟอร์เมชันกราฟิค หรือแม้กระทั่งอินเทอร์แอคทีฟกราฟิก ที่ผู้บริโภคสามารถคลิกหรือมีปฏิสัมพันธ์กับกราฟิกนั้น ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันสื่อหลายสำนักในประเทศไทย เริ่มมีการนำเสนอข่าวโดยการนำข้อมูลแบบประยุกต์ด้วยภาพ (Data Visualization)
จึงเป็นที่มาของการศึกษาทั้งกระบวนการและแนวโน้ม รวมถึงอุปสรรคในการพัฒนาการนำเสนอข่าว โดยใช้การแสดงผลแบบประยุกต์ด้วยภาพมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในข่าว
รายงานนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประการ คือ
1) เพื่อศึกษากระบวนการทำ Data Visualization ในการนำเสนอข่าวของสำนักข่าว The Matter The Standard และ Thai Publica
2) เพื่อศึกษาแนวโน้มและข้อจำกัดในการพัฒนากระบวนการนำเสนอข่าวโดยการใช้ Data Visualization ในการนำเสนอของสื่อมวลชนไทย
ผลการศึกษาอธิบายตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา
1) กระบวนการทำ Data Visualization ของสื่อทั้ง 3 สำนักมีกระบวนการในการทำที่ใกล้เคียงกัน คือ เริ่มจากการตั้งคำถาม ตามมาด้วยการสืบค้นข้อมูลในเชิงลึก จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาจัดการประมวลผล แล้วส่งต่อให้ดีไซเนอร์ออกแบบอินโฟกราฟิก หรือนักพัฒนาเพื่อเขียนโค้ด เพื่อให้ได้มาซึ่ง interactive content ซึ่งคนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับบทความที่นำเสนอได้ ดังนั้น โดยรวมแล้วการทำ Data Visualization ที่ดีควรมีองค์ประกอบของทีมให้ครบทั้ง 4 ส่วน เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศและสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งได้แก่ นักข่าวหรือคนทำคอนเทนต์ นักออกแบบกราฟิก (Graphic designer) นักพัฒนาเว็บไซต์ (Developer) และผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล (Data Specialist) นอกจากนี้ทุกส่วนควรมีความรู้เท่าทันข้อมูล (Data literacy) รู้ว่าจะจัดการชุดข้อมูลที่ได้มาอย่างไร เพื่อหากระบวนการทำงานร่วมกันและเพื่อให้การสื่อสารภายในทีมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างสรรค์บทความหรือข่าวออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) แนวโน้มและข้อจำกัดในการพัฒนากระบวนการนำเสนอข่าวโดยการใช้ Data Visualization ในการนำเสนอของสื่อมวลชนไทย พบว่ามีอุปสรรคสำคัญ 4 ประการที่ทำให้การนำเสนอข่าวโดยใช้ data visualization ยังไม่แพร่หลายมากนักในไทย คือ (1) ชุดข้อมูลไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่ใช้ได้เลย เช่น อยู่ในรูปของ pdf ต้องนำมาจัดเรียงข้อมูล หรือทำข้อมูลลงในตาราง Excel ใหม่ทั้งหมด (2) ระบบข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ในประเทศไทยมีน้อย (3) นักข่าวหรือคนเขียนคอนเทนต์ ไม่ได้ถูกเทรนด์มาให้ทำงานกับข้อมูล เช่น การใช้ Excel บางอย่างก็ยังไม่ถนัด ถ้าเราสามารถโค้ดอะไรบางอย่างจากโปรแกรม Excel ได้ ก็อาจจะช่วยให้นักข่าวประหยัดเวลาได้มากซึ่งในส่วนของข่าวที่ต้องใช้ข้อมูลมาประกอบ เร็วสุดอาจจะใช้เวลา 4 วัน หรือบางทีก็เป็นสัปดาห์กว่าจะได้ซักหนึ่งชิ้น (4) ระยะเวลาในการทำนาน นอกจากนี้ การศึกษาเนื้อหาและการนำเสนอในรูปแบบของข่าว ผ่านเฟซบุ๊กเพจของ The Matter The Standard และ Thai Publica เพื่อศึกษารูปแบบการนำเสนอข่าวโดยใช้การแสดงผลข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) ด้วยวิธีลงรหัสในการวิเคราะห์เนื้อหา (Coding Sheet) ซึ่งทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่
11 มีนาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้นจำนวน 190 โพสต์ พบอินโฟกราฟิกทั้งสิ้นจำนวน 17 ชิ้นงาน โดยพบมากสุดที่เพจ The Standard จำนวน 9 ชิ้นงาน และ The Matter จำนวน 8 ชิ้นงาน
รูปแบบของการโพสต์ของทั้ง 2 สื่อ มีรูปแบบที่เหมือนกัน คือ โพสต์อินโฟกราฟิกบนเฟซบุ๊กเพจ จากนั้นใส่ลิงค์เนื้อหาเพื่อนำคนไปสู่เว็บไซต์เพื่ออ่านบทความยาวต่อ แต่จากการศึกษาในครั้งนี้ ไม่พบการออกแบบอินโฟกราฟิกของ Thai Publica ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ รูปแบบในการนำเสนอที่พบบ่อยที่สุด คือ การโพสต์ข่าวสั้น โดยมีรูปภาพประกอบข่าวเพียงแค่ 1 รูป ลำดับที่สอง คือ การโพสต์ลิงก์เว็บไซต์ลงบนเฟซบุ๊กโดยตรง เพื่อให้ผู้อ่านคลิกไปอ่านบทความยาวต่อที่เว็บไซต์ และลำดับที่สาม คือ การโพสต์อินโฟกราฟิกอย่างง่ายโดยสรุปประเด็นสำคัญของข่าวมาไว้ในอินโฟกราฟิก
จะเห็นได้ว่าการนำเสนอข่าวในเชิงข้อมูลของประเทศไทยยังแตกต่างจากสื่อในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมอย่าง The Guardian New York times หรือ abc news ที่มีการนำเสนอข่าวในรูปแบบที่หลากหลายมีทีมงานซึ่งประกอบด้วยนักข่าวเชิงข้อมูล ทำคอลัมน์ข่าวในเชิงข้อมูลบนเว็บไซต์โดยเฉพาะ ส่งผลให้การนำเสนอข่าวในเชิงข้อมูลมีความหลากหลายกว่าสื่อในประเทศไทย ทั้งที่เป็น Interactive Content และอินโฟกราฟิกเคลื่อนไหวได้ในรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแนวทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ ในวงการสื่อในยุคที่ข้อมูลมีค่าเปรียบเสมือนน้ำมัน ผู้บริโภคจึงยินดีที่จะจ่ายค่าสมาชิกเพื่อรับข่าวสารที่มีคุณภาพนอกเหนือจากข้อมูลที่หาเสพได้ทั่ว ๆ ไป ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะเชื่อข่าวจากแหล่งใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสำนักข่าวก็ได้
หากสื่อมวลชนในประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนวงการสื่อได้ด้วยข้อมูล นำเสนอข่าวได้มากกว่าแค่ข่าวในเชิงความคิดเห็น หรือข่าวตามกระแสโดยทั่วไป การทำข่าวในเชิงข้อมูลรวมถึงการเรียนรู้เครื่องมือในการแสดงผลข้อมูลอย่าง Data Visualization อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการยกระดับความน่าเชื่อถือของข่าว ในยุคที่ผู้บริโภคถูกท่วมท้นไปด้วยข้อมูลและข่าวลวง (fake news) ดังเช่นปัจจุบัน
ภัควลัญชณ์ โชติพิชชานันช์
(บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC))