- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวเผยแพร่
- ความรับผิดชอบของสื่อในการรายงานข่าวความรุนแรงทางเพศเด็ก
ความรับผิดชอบของสื่อในการรายงานข่าวความรุนแรงทางเพศเด็ก
"...หลังจากมีการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาการละเมิดทางเพศอย่างละเอียด เมื่อเด็กได้ดูข่าวเด็กเกิดความเครียด ร้องไห้ ได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง ภาพเหตุการณ์ในอดีตฉายวนซ้ำ เสมือนต่อจิ๊กซอว์ความทรงจำ เป็นการข่มขืนซ้ำ..."
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “ความรับผิดชอบของสื่อในการรายงานข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็ก” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันการแข่งขันชิงความนิยมจากประชาชนในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์มีการแข่งขันที่สูงมากขึ้น รายการข่าวที่ได้รับความนิยมจากคนดู ต้องเป็นข่าวที่เข้าใจง่ายและคนดูรู้สึกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยเฉพาะ “ข่าวความรุนแรงทางเพศ”ที่มีองค์ประกอบสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ จิตใจและเป็นเรื่องเพศ
ถ้าหากข่าวความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับเด็ก คนดูจะยิ่งมีความสนใจและรู้สึกมีส่วนร่วมในตัวบุคคลในเหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้การนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์หลายแห่งมุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาให้ตอบโจทย์อารมณ์คนดู โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองว่าการนำเสนอนั้นอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก
รายงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบกับเด็กและครอบครัวหลังการนำเสนอข่าว ระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชน และมาตรฐานการรายงานข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็ก อ้างอิงตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนและกฎหมายคุ้มครองเด็กนี้เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบถึงผลกระทบกับเด็กและครอบครัวหากการนำเสนอนั้นไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเด็กหรือสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานการแสดงความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน
ผลการศึกษาพบว่า เด็กที่ผ่านประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศจะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสภาพจิตใจนานหลายปี ขณะที่การทำงานของสื่อมวลชนต้องการนำเสนอข่าวหลังเหตุการณ์ให้เร็วที่สุด ทำให้เด็กไม่สามารถตั้งรับได้ทัน การถามคำถามให้เล่าเหตุการณ์ เป็นการข่มขืนซ้ำ อีกทั้งการนำเสนอข่าวความรุนแรงในเด็กบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ เป็นการสร้างปัญหาอาชญากรรมซ้ำ
รายงานได้ศึกษาตัวอย่างการนำเสนอข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็กผ่านสื่อโทรทัศน์ 3 กรณี จาก 4 สถานีโทรทัศน์ พบว่า
กรณีที่ 1 รายการข่าวมีการนำเสนอเด็กและครอบครัว มีการใช้คำถามที่ละเอียดอ่อนส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กและครอบครัว การตั้งคำถามของผู้ดำเนินรายการได้ซ้ำเติมความรู้สึกกับผู้ถูกกระทำ
กรณีที่ 2 การขยายประเด็นข่าวด้วยข้อมูลเชิงลบต่อเด็ก เผยแพร่บทสัมภาษณ์ที่มีถ้อยคำเสียดสี กล่าวร้าย และการนำเสนอไม่ครบทุกด้าน กรณีนี้อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดในตัวเด็ก เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กและครอบครัว
กรณีที่ 3 การจำลองภาพความรุนแรงทางเพศในเด็กผ่านการทำอิมเมอร์ซีฟ กราฟิก (Immersive Graghic) ได้จำลองเหตุการณ์ลำดับขั้นตอนการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก และเผยแพร่ภาพจำลองที่ไม่เหมาะสม
การศึกษา 3 กรณีตัวอย่าง พบว่าเนื้อหาการนำเสนอข่าวขัดต่อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ระบุไว้ ห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 9 ที่ห้ามลงพิมพ์ เผยแพร่เรื่องราวหรือข้อมูลที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว นอกจากกฎหมายแล้ว การนำเสนอของสื่อได้ละเมิดจริยธรรมการรายงานข่าวเด็กขององค์การยูนิเซฟ จริยธรรมขั้นพื้นฐานในคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) และได้ละเมิดต่อข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2553
จากการนำเสนอข่าวที่ขัดต่อกฎหมายและละเมิดจริยธรรมสื่อ ได้นำผลกระทบมาสู่เด็กและครอบครัว โดยรายงานได้สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสื่อมวลชน บุคคลด้านคุ้มครองสิทธิเด็ก บุคคลด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมายและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรง พบว่า หัวหน้าบ้านพักเด็กและผู้ปกครองเด็กให้ข้อมูลตรงกันว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาการละเมิดทางเพศอย่างละเอียด เมื่อเด็กได้ดูข่าวเด็กเกิดความเครียด ร้องไห้ ได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง ภาพเหตุการณ์ในอดีตฉายวนซ้ำ เสมือนต่อจิ๊กซอว์ความทรงจำ เป็นการข่มขืนซ้ำ
ขณะที่ข่าวกำลังอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม กลุ่มคนที่ไม่เชื่อข้อมูลว่าเด็กถูกละเมิดได้รวมตัวเดินทางมาข่มขู่คุกคามครอบครัวเด็ก ทำให้เด็กและครอบครัวไม่สามารถอยู่ในชุมชนเดิมได้ ส่งผลกระทบระยะยาวในเรื่องที่อยู่อาศัยของเด็ก
ด้านนักสิทธิมนุษยชนมองว่าการนำเสนอของสื่อขาดการคำนึงถึงความเหมาะสม เป็นการสร้างแรงกดทับ ซ้ำเติม ซึ่งสื่อควรจะต้องตั้งสมมุติฐานก่อนการนำเสนอว่าการนำเสนอนั้นเป็นประโยชน์กับสังคมหรือไม่
ขณะที่สื่อมวลชนในระดับผู้ปฏิบัติงานภาคสนามและกองบรรณาธิการ รับทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองเด็กและมีกรอบจริยธรรมกำกับการทำงานของสื่ออยู่ แต่การรับรู้นั้นขาดการตีความหมายของกฎหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เช่น ผู้สื่อข่าวภาคสนามอายุงานไม่ถึง 5 ปี ไม่เคยศึกษากฎหมายคุ้มครองเด็กและคู่มือจริยธรรมสื่อเพื่อนำมาเป็นกรอบในการปฏิบัติงาน ขณะที่กองบรรณาธิการไม่ได้สร้างความเข้าใจให้คำแนะนำถึงวิธีปฏิบัติตามคู่มือจริยธรรมสื่อต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม แสดงให้เห็นว่า ระดับความรับผิดชอบของสื่อเข้าใจว่า การนำเสนอข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็กด้วยการปิดบังใบหน้า ไม่เปิดเผยชื่อสกุลที่อยู่อาศัย เป็นการทำงานตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพและกฎหมายแล้ว โดยไม่ได้คำนึงถึงเนื้อหาข่าวที่ขาดการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กและครอบครัว
สาเหตุหลักที่สื่อมวลชนละเมิดต่อกฎหมาย เป็นเพราะการขาดความเข้าใจและขาดการไตร่ตรองผลกระทบหลังการนำเสนอข่าว เพราะที่ผ่านมายังไม่มีครอบครัวหรือเด็กในกรณีใดฟ้องร้องสื่อจากการนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต
ขณะเดียวกันผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความนิยมข่าวที่นำเสนอเนื้อหาความรุนแรงทางเพศในเด็ก โดยไม่ได้รู้สึกว่าการนำเสนอข่าวนั้นไม่เหมาะสม สังคมและหน่วยงานภาครัฐไม่ตื่นตัวในการปกป้องสิทธิเด็ก ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังไม่เคยมีการดำเนินคดีหรือบังคับใช้กฎหมายฉบับใดในการลงโทษสื่อมวลชนที่ได้กระทำการละเมิดสิทธิเด็กทั้งที่สื่อมีความผิดชัดแจ้ง
รายงานชิ้นนี้ได้รวบรวมแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาละเมิดจากการนำเสนอข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็ก จากหน่วยงานคุ้มครองสิทธิเด็ก นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์และองค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เสนอแนะให้สื่อมวลชนยึด “ประโยชน์ของเด็ก” เป็นสำคัญ ต้องคำนึงถึงกฎหมายและกรอบจริยธรรมสื่อเป็นหลัก เพิ่มความระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลองค์ประกอบภาพ นำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ปัญหา เตือนภัยสังคม ไม่ควรทำกราฟิกจำลองเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ และองค์กรสื่อต้องมีการคัดกรองบุคคลากรและจัดอบรมกำหมาย ข้อบังคับ จริยธรรมสื่อมวลชนทั้งในระดับผู้ปฏิบัติงานและกองบรรณาธิการ