- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวเผยแพร่
- บทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการการสนับสนุน-ส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
บทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการการสนับสนุน-ส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
"...จากผลการศึกษาพบว่า มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน อย่างน้อย 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กทปส. ในสังกัดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์การสนับสนุนทุนเป็นของตนเอง โดยรูปแบบการให้ทุนมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การให้ทุนแก่หน่วยงานอื่น ๆ เพื่อไปดำเนินกิจกรรม หน่วยงานที่ให้ทุนจัดทำโครงการหรือกิจกรรมด้วยตนเอง หรือการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นในลักษณะภาคีเครือข่าย เป็นต้น..."
หมายเหตุ-บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคล เรื่อง “การสนับสนุนและส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ กรณีศึกษา บทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ในการศึกษาเรื่องนี้ได้เก็บข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ของหน่วยงาน ผลงานวิจัย ร่วมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมดูตัวอย่างกรณีศึกษาบทเรียนในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางการสนับสนุนทุนการรู้เท่าทันสื่อสำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
จากผลการศึกษาพบว่า มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน อย่างน้อย 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กทปส. ในสังกัดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์การสนับสนุนทุนเป็นของตนเอง โดยรูปแบบการให้ทุนมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การให้ทุนแก่หน่วยงานอื่น ๆ เพื่อไปดำเนินกิจกรรม หน่วยงานที่ให้ทุนจัดทำโครงการหรือกิจกรรมด้วยตนเอง หรือการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นในลักษณะภาคีเครือข่าย เป็นต้น
ลักษณะการให้ทุนมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันในบริบทของการหลอมรวมระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ การสร้างทักษะรู้เท่าทันภัยจากสื่อสารออนไลน์
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ภารกิจของหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนด จะเห็นได้ว่า การส่งเสริมและสนับสนุนทุนมีความทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน กล่าวคือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ สสส. ตามภารกิจจะให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนการรู้เท่าทันครอบคลุมในทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็น สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ สื่อโทรคมนาคม สื่อดิจิทัล รวมถึงสื่ออื่น ๆ
ในขณะที่ภารกิจของกองทุนดีอี มุ่งเน้นให้ทุนสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อสื่อดิจิทัล และในส่วน กทปส. ตามภารกิจเน้นให้ทุนด้านการรู้เท่าทันในสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และสื่อโทรคมนาคม
เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดสรรทุนที่มีความทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยนำเสนอกรอบแนวคิดการกำหนดขอบเขตหน้าที่ในการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อใน 2 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 การสนับสนุนทุนตามกลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิตสาร และกลุ่มผู้รับสาร
และมิติที่ 2 การสนับสนุนทุนตามลักษณะของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ๆ เช่น การส่งเสริมการผลิตรายการ การส่งเสริมงานวิจัย การส่งเสริมการรวมกลุ่มการกำกับกันเองของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน และการพัฒนาบุคลากรสายอาชีพและประชาชนทั่วไป รายละเอียดดังภาพประกอบ
• กทปส. ในฐานะผู้สนับสนุนเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อฯ และกองทุนดีอี ควรมุ่งเน้นการให้ทุนแก่กลุ่มผู้ผลิตสาร เฉพาะด้านวิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคม และ New Media/ Online ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และมีหน้าที่จัดสรรรายได้ประกอบกิจการเข้า กทปส. โดยมีกรอบนโยบายการให้ทุนที่คาดหวังให้ผู้ผลิตสารมีความตระหนักและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการพัฒนาและนำเสนอเนื้อหา(Content) ที่เป็นประโยชน์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
• กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ควรมุ่งเน้นการให้ทุนไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง 2 ด้าน โดยด้านผู้ผลิตสาร ควรสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตสารที่อยู่นอกเป้าหมายของ กทปส. ได้แก่ ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัย มูลนิธิ หรือสื่ออิสระ และในด้านผู้รับสาร ควรเน้นการสร้างทักษะหรือความสามารถในการรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการรู้ (ไม่) เท่าทัน เช่น เด็ก คนพิการ หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นพิเศษ
• กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีภารกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสังคมในยุคดิจิทัลควรเน้นการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล ควบคู่กับการอบรม สร้างทักษะ ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลแก่ประชาชน
• สสส. ซึ่งมีภารกิจหลักในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ควรพิจารณาการสนับสนุนทุนเพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ
นอกจากข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ผู้ศึกษายังเห็นว่า มีสิ่งสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความร่วมมือและดำเนินงานร่วมกันโดยเร่งพัฒนาระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนระหว่างหน่วยงานที่ให้ทุนด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การจัดสรรทุนของหน่วยงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
การพิจารณานำข้อเสนอข้างต้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ยังจำเป็นต้องมีกระบวนการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ การศึกษาข้อกฎหมาย และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนกำหนดเป็นนโยบายเพื่อใช้ในการจัดสรรทุนต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://itpulse.com.ng