- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวเผยแพร่
- ละครโทรทัศน์ไทยกับ Soft Power ทำไมฝันไม่ไกล หรือไปไม่ถึง?
ละครโทรทัศน์ไทยกับ Soft Power ทำไมฝันไม่ไกล หรือไปไม่ถึง?
เขียนโดย : ประกายกาวิล ศรีจินดา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตนครปฐม
"...ละครโทรทัศน์ เป็นธุรกิจบันเทิงในรูปแบบของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Industry) ที่อยู่คู่กับคนไทย มายาวนานกว่า 50 จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของวัฒนธรรมที่สามารถให้สามารถสอดแทรกเข้ากับบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ จึงมีโอกาสที่จะถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งใน Soft Power ของประเทศไทยได้เช่นกัน..."
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “ละครโทรทัศน์ไทยกับซอฟท์ พาวเวอร์ ทำไมฝันไม่ไกล... หรือไปไม่ถึง?” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
Soft Power คืออำนาจรูปแบบใหม่ ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “อำนาจละมุน” ซึ่งมาจากแนวคิดของโจเซฟ เนย์ (Joseph S. Nye, Jr.) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่หลายประเทศในโลกต่างให้ความสนใจมาในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการใช้ Soft Power คือญี่ปุ่น ที่ใช้การ์ตูนและแอนิเมชันในการสื่อสารวัฒนธรรม และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นน้องใหม่ที่มาเร็วและแรงในการรู้จักใช้ Soft Power ในการสื่อสารวัฒนธรรมผ่านสื่อบันเทิงประเภทภาพยนตร์และซีรีส์ จนทำให้ทั้งสองกลายเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีอำนาจทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน โดยติดอันดับที่ 5 และ 12 ของประเทศที่มี Soft Power ทรงพลังที่สุดในโลกในปี 2565 ตามลำดับ สำหรับในประเทศไทยนั้น อยู่ในอันดับที่ 35 ของโลก โดยที่เริ่มให้ความสนใจกับ Soft Power ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้เอง จะเห็นได้จากความพยายามที่จะตามรอยความสำเร็จของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่ปัญหาและอุปสรรคสำคัญนั้นติดอยู่ที่ไหน เพราะเหตุใด Soft Power ของไทยจึงยังไปไม่ถึงจุดที่หวังไว้?
จะเห็นได้ว่าตัวแปรสำคัญในการสร้าง Soft Power ตามแนวคิดของเนย์ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ วัฒนธรรมที่สามารถโน้มน้าวผู้อื่นได้ ค่านิยมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ และ นโยบายต่างประเทศที่ชอบธรรมและใช้อำนาจอย่างมีศีลธรรม เมื่อมาเชื่อมโยงกับตัวแปรสำคัญที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ไปไกลจนเกิดเป็น Soft Power มี 3 องค์ประกอบ คือ ภาคธุรกิจเอกชน B: Business ภาครัฐ G: Government และภาคประชาชน C: Citizen ซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ได้ สิ่งสำคัญประการแรกในการที่ “วัฒนธรรมบันเทิงของไทย” จะไปสู่เส้นทาง Soft Power ได้นั้น ต้องพิจารณาถึงทรัพยากรต้นทุนที่เรามีอยู่ว่าเรามีอะไรบ้างที่ได้รับการยอมรับและสามารถที่จะแข็งแรงมากพอที่จะผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าความล้มเหลวของเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของภาครัฐ (G) ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงไทยยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งมาจากการไม่เข้าใจในอุตสาหกรรมสื่ออย่างแท้จริง อันมีผลถึงภาคเอกชน (B) ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านนโยบายและเงินทุนทำให้คุณภาพการผลิตผลงานเป็นไปตามงบประมาณที่มี ส่งผลไปยังความนิยมของประชาชน (C) ที่เป็นกลุ่มผู้ชมที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนวัฒนธรรมบันเทิงของไทย
“ละครโทรทัศน์” เป็นธุรกิจบันเทิงในรูปแบบของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Industry) ที่อยู่คู่กับคนไทย มายาวนานกว่า 50 จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของวัฒนธรรมที่สามารถให้สามารถสอดแทรกเข้ากับบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ จึงมีโอกาสที่จะถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งใน Soft Power ของประเทศไทยได้เช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าละครโทรทัศน์ถูกประเมินค่าให้มีคุณค่าน้อยกว่าสื่อบันเทิงประเภทอื่น เช่น ภาพยนตร์ หรือเพลง ดังนั้น ละครโทรทัศน์จึงมักจะถูกมองข้ามที่จะได้รับสนับสนุนจากภาครัฐบาล พิจารณาจากนโยบาย 5 F ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2565 ที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงละครโทรทัศน์ไทยอยู่ในนั้นด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามทั้ง 5 F นี้ยังไม่ถูกสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโดยแท้จริง เนื่องจาก ผู้ทำงานในภาครัฐต่างไม่มีความเข้าใจในอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความซับซ้อนหลากมิติอย่างแท้จริง ทำให้ไม่สามารถกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถสนับสนุนผลงานบันเทิงได้อย่างสอดคล้องและทั่วถึง โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ไทยที่มักจะไม่ถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการส่งเสริมการส่งออกสื่อบันเทิงของไทยอยู่เสมอมา
ทั้งนี้ หากรัฐบาลได้มีการกำหนดความรับผิดชอบหรือจัดตั้งหน่วยงานกลางให้มีหน้าที่ในการดูภาพรวมการส่งเสริมธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงอย่างเหมาะสม ไปพร้อมกับการให้การสนับสนุนด้านเงินทุนกับผู้ผลิตละครโทรทัศน์รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำเพื่อลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญคือ การร่วมมือกับผู้ผลิตในการศึกษาตลาดต่างประเทศและส่งเสริมการผลิตละครโทรทัศน์ไทยให้เข้ากับความต้องการของผู้ชมทั้งชาวไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการที่ภาครัฐควรที่จะทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาอย่างไรที่กลุ่มผู้ชมสนใจและผู้ผลิตควรที่จะเล่าในสิ่งที่ผู้ชมอยากจะดู ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตหรือภาครัฐอยากจะบอกเล่าเพียงฝ่ายเดียว ตัวอย่างที่ให้เห็นชัดคือละครโทรทัศน์ประเภทซีรีส์วายของไทย ที่ผลิตเนื้อหาได้อย่างตรงใจผู้ชมกลุ่มเป้าหมายจนได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตได้มีแนวทางในการเผยแพร่ Soft Power อย่างเป็นกระบวนการผ่านการดึงดูดทางวัฒนธรรมด้วยละครโทรทัศน์ไทย โดยเชื่อมร้อยองค์ประกอบระหว่าง ภาคเอกชน (B) ภาครัฐ (G) และภาคประชาชน (C) ได้อย่างครบถ้วนในทุกมิติ
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ละครโทรทัศน์ของไทยจะถูกยกสถานะให้เป็นมากกว่าความบันเทิงที่ถูกมองว่าไร้สาระ ไปสู่ผลงานศิลปะบันเทิงที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยไม่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายเดียว โดยภาครัฐและภาคเอกชน ควรหารือกันในการกําหนดยุทธศาสตร์ ซอฟท์ พาวเวอร์ ให้ชัดเจนและมีการบูรณาการกันยิ่งขึ้น โดยจัดเวทีหารือระยะยาวเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้พูดคุยประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอและมีความต่อเนื่อง เมื่อทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือใบเบิกทางให้อุตสาหกรรมการสร้างสรรค์สื่อบันเทิง (Creative entertainment) กลายเป็นอีกอุตสาหกรรมที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะที่สุดแล้ว “ละครโทรทัศน์ กับ Soft Power ไทย..... ต้องฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง”
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : elcca.ssru.ac.th