- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวเผยแพร่
- เมื่อสื่อมวลชนลุกขึ้นสู้กับไอโอ : บทเรียนจากสื่อฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
เมื่อสื่อมวลชนลุกขึ้นสู้กับไอโอ : บทเรียนจากสื่อฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
เขียนโดย: วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา the101percent
"...การระบาดของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารโดยรัฐในหลายประเทศทั่วโลกนี้ถูกมองว่ากำลังเป็นภัยคุกคามอันสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของโลก จึงมีหลายภาคส่วนที่ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทในการต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว และที่น่าสนใจคือบางประเทศได้ปรากฏบทบาทของสื่อมวลชนท้องถิ่นที่เดินหน้าทำงานต่อสู้ประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะ ดังเช่นประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ได้เห็นบทบาทของสื่อในเรื่องนี้..."
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการทำข่าวสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์โดยรัฐ ระหว่างสำนักข่าว Rappler ประเทศฟิลิปปินส์ และสำนักข่าว Tempo ประเทศอินโดนีเซีย” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
'ไอโอ' (IO) ถือได้ว่าเป็นคำที่คนไทยหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนที่ติดตามสื่อสังคมออนไลน์ อาจคุ้นหูกันดี โดยไอโอเป็นตัวย่อจากคำว่า Information Operation หรือ Influence Operation โดยแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ ซึ่งหมายถึงความพยายามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโน้มน้าวความคิดผู้คนเห็นเป็นไปในทางที่ต้องการ ในทุกวันนี้ ไอโอได้ขยับขึ้นมาโลดแล่นมากเป็นพิเศษตามสื่อสังคมออนไลน์อันเป็นช่องทางยอดนิยมในการเสพข้อมูลข่าวสารของผู้คนยุคปัจจุบัน โดยไอโอรูปแบบหนึ่งที่เรามักเห็นคือกองกำลังไซเบอร์ที่มีการสร้างบัญชีผู้ใช้จำนวนมากร่วมกันระดมเผยแพร่ข้อความต่าง ๆ ซึ่งมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งในแง่การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองหนึ่ง หรือการโจมตีใส่ร้ายป้ายสีคนเห็นต่างทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่พบการระบาดของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย หากแต่ยังพบในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีการชี้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในหลายประเทศคือ ‘ภาครัฐ’ ดังที่รายงานของ Oxford Internet Institute ในปี 2020 ชี้ว่ามีอย่างน้อย 62 ประเทศที่รัฐอยู่เบื้องหลังในการทำปฏิบัติการ หนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทย
การระบาดของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารโดยรัฐในหลายประเทศทั่วโลกนี้ถูกมองว่ากำลังเป็นภัยคุกคามอันสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของโลก จึงมีหลายภาคส่วนที่ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทในการต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว และที่น่าสนใจคือบางประเทศได้ปรากฏบทบาทของสื่อมวลชนท้องถิ่นที่เดินหน้าทำงานต่อสู้ประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะ ดังเช่นประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ได้เห็นบทบาทของสื่อในเรื่องนี้
ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียถือเป็นประเทศพบการดำเนินการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมืองบนโลกออนไลน์ รวมถึงปฏิบัติการโดยรัฐ อย่างแพร่หลาย โดยเห็นได้ชัดนับตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำที่ถูกมองว่าออกห่างจากแนวทางประชาธิปไตยเสรีอย่าง โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ของฟิลิปปินส์ และโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ของอินโดนีเซีย ในปี 2016 และ 2014 ตามลำดับ ทั้งยังพบว่าทั้งสองผู้นำมีการใช้ปฏิบัติดังกล่าวอย่างเข้มข้นตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง จนมีส่วนให้คว้าเก้าอี้ผู้นำสำเร็จ โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในฟิลิปปินส์เรียกปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในประเทศตัวเองติดปากว่า ‘โทรล’ (troll) ขณะที่คนอินโดนีเซียเรียกว่า ‘บัซเซอร์’ (buzzer)
สื่อมวลชนทั้งในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียตระหนักดีว่าการระบาดของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมืองบนโลกออนไลน์กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม จึงก้าวขึ้นมาแสดงบทบาทต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มข้น ซึ่งโดยมากมักเลือกต่อสู้ด้วยการทำงานตรวจสอบหักล้างข้อมูลเท็จ (fact-checking and debunking) ที่ถูกปล่อยออกมาจากเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนบางสำนักตัดสินใจต่อสู้ด้วยรูปแบบที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือการสืบสวนเชิงลึกเพื่อเปิดโปงตีแผ่เครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ให้สาธารณชนได้เห็นทั้งวิธีการทำงานของเครือข่าย และบุคคลหรือหน่วยงานผู้อยู่เบื้องหลัง โดยสำนักข่าวที่ก้าวขึ้นมาทำงานดังกล่าว ได้แก่ สำนักข่าว Rappler ประเทศฟิลิปปินส์ และสำนักข่าว Tempo ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนเป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่มีชื่อเสียงในแง่การทำข่าวสืบสวนตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลของรัฐในประเทศตัวเอง จนถูกคุกคามจากรัฐในหลายรูปแบบ
ดอน เควิน ฮาปาล (Don Kevin Hapal) หัวหน้าแผนกนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Forensics Team) สำนักข่าว Rappler และฮุซเซน อาบริ ดงโงรัน (Hussien Abri Dongoran) ผู้สื่อข่าวด้านการเมืองและความมั่นคง สำนักข่าว Tempo เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการที่สำนักข่าวของตนก้าวขึ้นมาทำงานลักษณะนี้คล้ายกันว่า เป็นเพราะสำนักข่าวตกเป็นเหยื่อของการถูกโจมตีทางออนไลน์เสียเอง และเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกันนี้ไม่น้อย นอกจากนี้ทั้งสองสำนักข่าวยังมองว่า การทำงาน fact-checking ที่สำนักข่าวมักทำกันแพร่หลาย ยังมีข้อจำกัดมากในการเอาชนะข้อมูลข่าวสารเท็จ จึงจำเป็นก้าวข้ามไปสู่การสืบสวนเปิดโปงให้คนได้เห็นตัวการเบื้องหลังชัดเจน โดยในปัจจุบันทั้งสองสำนักข่าวถือเป็นสำนักข่าวเดียวในประเทศตัวเองที่ทำงานสืบสวนในประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม การทำข่าวสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของ Rappler กับ Tempo ใช้แนวทางแตกต่างกัน โดยทางด้าน Rappler ฮาปาลระบุว่าได้ประยุกต์ใช้วิธีการทางวารสารศาสตร์ข้อมูลหรือ data journalism ซึ่งอาศัยการเก็บรวบรวม จัดระเบียบ และวิเคราะห์ข้อมูลบทสนทนาของบัญชีผู้ใช้ที่แพร่กระจายบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อศึกษาว่าเครือข่ายปฏิบัติการนั้น ๆ กำลังใช้วาทกรรมแบบใด ต้องการโน้มน้าวความคิดคนไปในทิศทางใด รวมทั้งมีวิธีการเผยแพร่กระจายต่อข้อมูลกันไปอย่างไร มีต้นทางมาจากที่ใด และใครหรือหน่วยงานใดคือผู้มีแนวโน้มอยู่เบื้องหลัง โดย Rappler นำเสนอผลการสืบสวนให้เห็นด้วยการสร้างสรรค์แผนภาพจำลองประกอบในบทความข่าวเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
ภาพตัวอย่างการแสดงผลการสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าว Rapplrt โดยด้านซ้ายคือ network graph ที่แสดงความเชื่อมโยงในการส่งต่อข้อมูลระหว่างแฟนเพจและกลุ่มบนเฟซบุ๊ก และด้านขวาคือ bar chart ซึ่งแสดงจำนวนบัญชีผู้ใช้ที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละวัน
ที่มาภาพ: รายงานข่าว With anti-terror law, police-sponsored hate and disinformation even more dangerous และ Marcos network tries to take over Twitter with freshly-made accounts
ขณะที่ดงโงรันชี้ว่า Tempo เลือกใช้แนวทางการทำข่าวสืบสวนแบบดั้งเดิม ด้วยการพยายามแกะรอย เข้าถึง และล้วงข้อมูลจากพยานหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานบุคคลผู้มีส่วนรู้เห็นกับเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ จนได้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำงานและผู้อยู่เบื้องหลังเครือข่ายปฏิบัติการ ก่อนตีแผ่ให้เห็นด้วยการนำเสนอในรูปแบบบทความข่าว
ทั้งฮาปาลและดงโงรันกล่าวเหมือนกันว่า แนวทางการทำข่าวสืบสวนของสำนักข่าวตนต่างมีความยากและต้องใช้เวลาในการทำร่วมเดือน โดยทางฝั่ง Rappler แม้จะไม่ได้เผชิญความยากในการเข้าถึงข้อมูลมากนัก ด้วยว่าทำงานกับข้อมูลซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวบนสื่อสังคมออนไลน์ อันถือว่าเป็นข้อมูลเปิดซึ่งเป็นที่เข้าถึงได้ง่ายและมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ความยากไปอยู่ที่การคัดกรองและจัดระเบียบข้อมูลเหล่านี้ที่มีอยู่มหาศาลให้เป็นระบบระเบียบ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนต้องใช้เครืองมือที่ทันสมัยและเทคนิควิธีการที่ซับซ้อน ขณะที่ทางฝั่ง Tempo ซึ่งทำงานกับข้อมูลที่มาจากคน โดยเฉพาะคนที่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำอันไม่ชอบมาพากลของรัฐ ซึ่งจัดว่าเป็นข้อมูลปิดหรือข้อมูลความลับที่ไม่อาจเข้าถึงได้ง่ายและไม่ได้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป จึงมีความยากอยู่ที่การเข้าถึงแหล่งข้อมูล การล้วงข้อมูลออกมาจากแหล่งข้อมูล รวมทั้งการพิสูจน์ให้ได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง
ภาพตัวอย่างบทความข่าวสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าว Tempo
ที่มาภาพ: รายงานข่าว The Palace’s Social Media Troops
แนวทางของทั้งสองสำนักข่าวจึงนับว่ามีความยากในคนละรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ผลงานข่าวของทั้งสองสำนักข่าวที่เผยแพร่ออกมาต่างสามารถสร้างผลสะเทือนต่อสังคม โดยสามารถตีแผ่ให้สาธารณชนเห็นภาพการทำงานของเครือข่ายปฏิบัติการ รวมทั้งสามารถชี้ตัวผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลัง จนทำให้บุคคลหรือหน่วยงานนั้นต้องออกมาตอบคำถามต่อสังคม
ส่วนในกรณีสำนักข่าว Rappler ผลงานข่าวหลายชิ้นยังสามารถส่งผลสะเทือนอีกขั้น เนื่องจากสำนักข่าวมีการประสานส่งหลักฐานรายชื่อบัญชีผู้ใช้บนสื่อสังคมออนไลน์ที่ต้องสงสัยว่าทำงานใต้เครือข่ายปฏิบัติการเดียวกัน ให้แก่บริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เพื่อตรวจสอบในขั้นต่อไป จนท้ายที่สุดส่งผลให้บริษัทแพลตฟอร์มออกประกาศสั่งปิดบัญชีเหล่านั้นหลายบัญชีในคราวเดียว ทั้งยังประกาศถึงตัวบุคคลและหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งช่วยยืนยันอีกชั้นหนึ่งว่าผลการสืบสวนของสำนักข่าวเป็นความจริง
แต่ถึงอย่างนั้น ฮาปาลและดงโงรันต่างยอมรับว่าการทำงานของสำนักข่าวตนยังไม่สามารถเอาชนะปัญหาการระบาดของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐบนโลกออนไลน์ได้ โดยชี้ว่าเหตุผลสำคัญหนึ่งคือทั้งสองสำนักข่าวยังเป็นสำนักข่าวเดียวในประเทศตัวเองที่ทำงานนี้ ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับเครือข่ายปฏิบัติการที่มีขนาดใหญ่โต ซับซ้อน และหนุนหลังด้วยทรัพยากรมหาศาล โดยฮาปาลและดงโงรันมองว่าเหตุผลที่สำนักข่าวอื่นยังไม่ทำงานนี้เป็นเพราะการทำงานมีความยาก ซับซ้อน และต้องใช้ทรัพยากรสูง
ฮาปาลและดงโงรันยังให้ความเห็นว่า หนทางที่จะทำให้การทำงานสืบสวนปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐมีพลังขึ้นมาได้ ความร่วมมือคือกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนแต่ละสำนัก ในการทำงานสืบสวนร่วมกัน รวมทั้งถ่ายทอดแบ่งปันทรัพยากรในการทำงานซึ่งกันและกัน ขณะที่ความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่ไม่ใช่สื่อมวลชน เช่น สถาบันทางวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม และบริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ก็นับว่าสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในบางกระบวนการที่สื่อมวลชนอาจไม่มีความถนัด ก็จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับองค์กรที่มีความสามารถในด้านนั้น
หากย้อนมองประเทศไทย การใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐก็จัดว่าเป็นปัญหาใหญ่ ทว่ายังแทบไม่พบบทบาทของสื่อมวลชนไทยที่เดินหน้าต่อสู้กับปัญหานี้อย่างจริงจังนัก จึงจะเป็นการดีอย่างยิ่งถ้าสื่อมวลชนไทยสามารถเรียนรู้แนวทางการทำงานจากทั้งสำนักข่าว Rappler และ Tempo เพื่อนำไปสู่การขบคิดต่อยอดในการเดินหน้าทำงานสืบสวนประเด็นนี้ในอนาคต และเลือกประยุกต์ใช้แนวทางที่เหมาะสมกับความถนัดของสำนักข่าวตนเอง เพื่อให้สื่อมวลชนไทยยังคงสามารถยืนหยัดบทบาทของการเป็นผู้รักษาความจริงและการเป็นผู้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลให้แก่สังคม ท่ามกลางยุคสมัยที่โลกแห่งข้อมูลข่าวสารเต็มไปด้วยภัยคุกคามและความท้าทายรูปแบบใหม่
ช่วงเวลานี้ที่การเลือกตั้งทั่วไปของไทยใกล้มาถึง ซึ่งคาดได้ว่าจะเป็นช่วงที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมืองบนโลกออนไลน์มีความเข้มข้นมาก อาจนับว่าเป็นเวลาเหมาะสมที่สื่อมวลชนไทยจะนำร่องทำงานนี้ แต่ดังที่สำนักข่าว Rappler และ Tempo กล่าวไว้ว่าการทำงานนี้มีความยากจนจัดว่าไม่ง่ายที่แต่ละสำนักข่าวจะทำงานนี้เพียงลำพัง ขณะที่สื่อมวลชนไทยยังค่อนข้างขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำงานสืบสวนประเด็นนี้ ดังนั้นสื่อมวลชนไทยจึงอาจต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันในการทำงานนี้ และอาจยังต้องมีความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยความร่วมมือเหล่านี้อาจต้องเข้มข้นมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงเริ่มแรกของการทำงาน
นอกจากนี้ ฮาปาลและดงโงรันยังเสนอแนะว่า ในการที่สื่อมวลชนจะทำงานดังกล่าว ยังต้องคำนึงถึงการรับมือกับความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามจากภาครัฐ เนื่องจากทั้งสำนักข่าว Rappler และ Tempo ต่างก็โดนโจมตีจากภาครัฐหลังการเผยแพร่ผลงานเปิดโปงเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ ขณะที่ฮาปาลให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกว่า บทบาทของสื่อมวลชนในการต่อสู้กับปัญหานี้ยังต้องไปไกลกว่าแค่การรายงานข่าว แต่ยังต้องเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์แสดงความรับผิดชอบต่อการจัดการปัญหามากขึ้นด้วย ในฐานะที่เป็นแหล่งเอื้อเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารดำเนินการ เหล่านี้ถือเป็นข้อเสนอแนะที่สื่อมวลชนไทยสามารถนำไปพิจารณาหากมีความสนใจริเริ่มทำงานในประเด็นนี้
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : the101percent.com