- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวเผยแพร่
- สื่อสารอย่างไร ให้โรงเรียนรัฐกล้าปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน
สื่อสารอย่างไร ให้โรงเรียนรัฐกล้าปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน
เขียนโดย : นายพงศ์ทัศ วนิชนันท์ ทีดีอาร์ไอ
ปัญหาที่พบทำให้เกิดการตั้งคําถามกับรูปแบบการสื่อสารของฝ่ายนโยบาย เพราะที่ผ่านมานอกจากทำให้โรงเรียนไม่สามารถบริหารความเป็นอิสระได้เต็มที่ตามเจตนารมณ์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุอีกด้วย
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “บทเรียนจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะสื่อสารอย่างไรให้โรงเรียนรัฐกล้าปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
“การเรียนการสอนในห้องเรียนไทยจำเป็นต้องเปลี่ยน เพื่อสร้างเด็กที่มีทักษะแห่งอนาคต” เป็นสิ่งที่สิ่งที่สังคมเห็นพ้องต้องกัน และหลายภาคส่วนพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้น ทั้งภาครัฐที่มีการปรับโครงสร้างตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบการศึกษามาโดยตลอด และภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษามากขึ้น อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังไม่น่าพอใจ เห็นได้จากผลทดสอบจาก โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for. International Student Assessment หรือ PISA) แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยอายุ 15 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาอย่างง่ายในชีวิตประจำวันได้ และเด็กในครอบครัวยากจนและเด็กในโรงเรียนประจำหมู่บ้านมีทักษะการอ่านด้อยกว่ากลุ่มที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีหรือมีโอกาสเรียนเมือง 2.3 ถึง 3 ปีการศึกษา ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาทั้งในด้านคุณภาพและความเหลื่อมล้ำชัดเจน และช่องว่างระหว่างสิ่งที่อยากให้เป็นกับสิ่งที่เป็นอยู่
หากเปลี่ยนมุมมองจากภาพใหญ่มาดูหน้างานจริง การปรับโครงสร้างในระบบการศึกษาหรือเปลี่ยนองค์ประกอบ อาทิ กฎระเบียบต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอให้เกิดการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ แต่จำเป็นต้องมี “การสื่อสารที่ดี” เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกล้าทำและเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อีกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นความท้าทายในการเปลี่ยนการสอนในห้องเรียนอย่างชันเจน จากการติดตามการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ผู้เขียนได้พบว่า หลายครั้งที่ฝ่ายนโยบายออกประกาศเพื่อผ่อนคลายกฎระเบียบแล้ว แต่โรงเรียนนำร่องส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติตามแนวทางเดิมอยู่ เช่น ฝ่ายนโยบายออกประกาศให้โรงเรียนนําร่องสามารถนํางบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาเลือกซื้อหนังสือเรียนนอกบัญชีที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กําหนดได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีโรงเรียนนําร่องจำนวนมากยังคงซื้อหนังสือเรียนในรายการที่กําหนดอยู่ ซึ่งหนังสือเรียนเหล่านั้นถูกนํามาเก็บไว้ไม่ได้นําไปใช้สอนนักเรียน เพราะไม่ตรงกับแผนการ สอนแบบใหม่ของโรงเรียน เป็นต้น
สาเหตุที่โรงเรียนนำร่องไม่ซื้อหนังสือนอกบัญชี (สพฐ.) ที่ตนเองต้องการ เป็นเพราะโรงเรียนยังคงกลัวทำผิดระเบียบ แม้ฝ่ายนโยบายได้ออกประกาศแล้ว นอกจากนี้โรงเรียนบางแห่งเผชิญกับแรงต่อต้านจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความกังวลว่า การเรียนการสอนแบบใหม่ที่เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำ มากกว่าบอกสอนหน้าชั้นเรียนหรือเรียนตามหนังสือแบบเดิม จะทำให้บุตรหลานของตนด้อยในด้านวิชาการลง
ปัญหาที่พบทำให้เกิดการตั้งคําถามกับรูปแบบการสื่อสารของฝ่ายนโยบาย เพราะที่ผ่านมานอกจากทำให้โรงเรียนไม่สามารถบริหารความเป็นอิสระได้เต็มที่ตามเจตนารมณ์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุอีกด้วย ยิ่งไปกว่านี้ ยังทำให้เห็นความสำคัญขององค์กรสื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อระดับประเทศที่มีศักยภาพในการสนับสนุนฝ่ายนโยบายประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ฝ่ายปฏิบัติงานในการริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ และสร้างการรับรู้แก่ภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้เข้าใจความจำเป็นที่ต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยใช้เนื้อหาที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน
บทเรียนที่เกิดขึ้นส่งสัญญาณให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้องค์กรสื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสารมากขึ้น โดยผู้เขียนมี 3 ข้อเสนอในการปรับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อให้เกิดการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนได้จริง ดังนี้
1. เร่งประสานองค์กรสื่อระดับประเทศเพื่อหารือถึงแนวทาง รูปแบบ และขอบเขตการทำงานร่วมกันทีไม่ก่อให้เกิดความกังวลของทั้งสองฝ่าย โดยเสนอให้องค์กรสื่อพิจารณาถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการสื่อสารในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งวางแผนการติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่องเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อหาการสื่อสารที่เป็น Win-Win Solution
2. มีการติดตามโดยประสานกับหน่วยงานระดับภูมิภาคให้ชี้เป้าโรงเรียนที่บริหารจัดการความเป็นอิสระได้ดี เช่น โรงเรียนที่เลือกซื้อหนังสือเรียนนอกบัญชี สพฐ. โรงเรียนที่สามารถปฏิเสธเข้าร่วมโครงการที่ได้รับมอบหมาย หรือโรงเรียนที่มีแนวทางการประเมินวิทยฐานะครูแบบใหม่ที่น่าสนใจ เป็นต้น เพื่อให้ได้เนื้อหาตามแนวทางที่วางแผนไว้
3. ประเมินผลการสื่อสารเพื่อให้มีตัวอย่างการสื่อสารที่ดีสำหรับเป็นต้นแบบการดำเนินการต่อ หรือแนวทางการพัฒนาการสื่อสารจากอุปสรรคที่พบ พร้อมนำบทเรียนที่ได้มาแลกเปลี่ยนกับองค์กรสื่ออย่างสม่ำเสมอ
สำหรับองค์กรสื่อ การทำข่าวการศึกษามีความท้าทายเพราะมีเนื้อหาลึกและซับซ้อน อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ รวมทั้งมีความน่าสนใจน้อยกว่าประเด็นที่สังคมกำลังพูดถึงในวงกว้าง แต่ผู้เขียนเชื่อในมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนไทยว่ามีความสามารถในการสื่อสารให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในเรื่องรายได้ขององค์กร กับสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกแก่สังคมไปได้พร้อม ๆ กัน