- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวสารและการอบรม
- แนวทางการพัฒนาหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชนเพื่อรับมือกับ Media Disruption และ AI
แนวทางการพัฒนาหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชนเพื่อรับมือกับ Media Disruption และ AI
"...ทักษะด้านหนึ่งที่มีความสำคัญที่ AI และ Media Disruption ไม่ส่งผลกระทบต่อสายงานด้านการสื่อสาร/วารสารศาสตร์ คือ Soft Skills เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล ความเป็นทีมเวิร์ค (Team Work) ทำงานร่วมกัน มารยาททางสังคม ทักษะการเจรจาต่อรอง ความเป็นผู้นำ การให้ความร่วมมือ การบริหารจัดการด้านเวลา เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา จากการที่สื่อใหม่แข่งขันที่ความรวดเร็วในการนำเสนอ โดยข้อมูลที่เผยแพร่ควรจะต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ไขปัญหา เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการระบุปัญหาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ณ ปัจจุบัน AI ยังไม่สามารถทำงานดังกล่าวได้ดีเทียบเท่ามนุษย์..."
หมายเหตุ-บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนเพื่อรับมือกับ Media Disruption และ AI (Artificial Intelligence)” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
จากสถานการณ์ที่กำลังซึ่งที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชน 3 ด้าน คือ
1. พฤติกรรมผู้รับสารที่เปลี่ยนไป ให้ความสนใจเปิดรับและเลือกสนใจสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อมวลชนเดิม เพราะสามารถบริหารจัดการ “ผังรายการการรับชม” ได้ด้วยตนเองตามเวลาที่สะดวก
2. ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการโฆษณาหันไปเลือกซื้อพื้นที่และเวลาผ่านสื่อดิจิทัล สื่อใหม่ ตามพฤติกรรมของผู้รับสาร ลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชน เริ่มมีรายได้ลดลง นำไปสู่ภาวการณ์ขาดทุน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการ ลดจำนวนพนักงาน และบางแห่งต้องปิดกิจการ หากไม่มีความพร้อมที่จะปรับตัวให้ทำงานภายใต้บริบทและพฤติกรรมผู้รับสารที่เปลี่ยนไป
และ 3. จากการหดตัวของอุตสาหกรรมสื่อมวลชนเดิมทำให้มีผู้สนใจเข้าเรียนในหลักสูตรนิเทศศาสตร์หรือการสื่อสาร เริ่มหันไปให้ความสนใจกับหลักสูตรอื่น ๆ ที่กำลังเติบโตทางธุรกิจหรือสายงานอื่น ๆ ผนวกกับจำนวนประชากรที่จะเข้าเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยลดลงอย่างต่อเนื่องตามลักษณะประชากรศาสตร์ ทำให้บางหลักสูตรในมหาวิทยาลัยบางแห่งต้องปิดหลักสูตร เนื่องจากไม่มีผู้เรียนหรือผู้มาเรียนน้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้
ปัจจุบันแม้ว่าสื่อมวลชนหลายแห่งเริ่มนำแนวทาง Media Disruption มาใช้เป็นหนึ่งในการบริหารงาน โดยเคลื่อนย้ายจากพื้นที่การเผยแพร่เดิมไปสู่การเผยแพร่ผ่านพื้นที่สื่อออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้รับสาร แต่ การปรับตัวจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านงบประมาณ ความสามารถของบุคลากร การบริหารจัดการ ความเข้าใจคุณลักษณะ (ธรรมชาติ) ของสื่อออนไลน์ การสร้างสรรค์เนื้อหาที่ตรงกับความต้องการและความชื่นชอบของผู้รับสาร แม้ว่ารายได้ที่กลับคืนมาอาจจะไม่ได้มากเท่ากับการบริหารจัดการธุรกิจในสื่อเดิมก็ตาม
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ที่ท้าทายวิชาชีพนักสื่อสารมวลชน และกำลังถูกตั้งคำถามด้านความเหมาะสมว่าทำได้หรือไม่ คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาททดแทนการทำงานบางอาชีพ เพื่อลดจำนวนคนทำงาน โดย AI ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดด้าน “สมรรถภาพ” ของมนุษย์ คือ ความสามารถในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
รายงานนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 3 ประการ คือ 1. เพื่อทราบความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อบัณฑิตที่พึงประสงค์ภายใต้บริบทสื่อและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง 2. เพื่อทราบความคิดเห็นและความต้องการของผู้เรียนในระดับปริญญาตรีด้านการเรียนการสอนและทักษะที่พร้อมจะไปทำงานได้ต่อไป และ 3. เพื่อทราบแนวทางการปรับตัวด้านการเรียนการสอนสื่อสารมวลชนให้สอดรับกับบริบททางสื่อสารมวลชนที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลการศึกษาอธิบายตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ 1. นักวิชาการและนักวิชาชีพต้องการให้นักศึกษาและบัณฑิตที่พึงประสงค์มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเป็นระบบ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิจารณญาณ การวิพากษ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ การตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีความสามารถในการทำงานที่หลากหลาย (Multi-Tasking) ภายในเวลาอันรวดเร็วตามคุณลักษณะของสื่อใหม่ โดยจะต้องคำนึงถึงความถูกต้องแม่นยำในข้อมูลข่าวสารที่ทำการสื่อสารตามธรรมชาติของสื่อดั้งเดิม (Tradition Media) ด้วย
การเน้นย้ำความสำคัญด้านจรรยาบรรณ จริยธรรม และคุณธรรมในการปฏิบัติงาน รวมทั้งทักษะเบื้องต้นในการสื่อสารเพื่อติดต่อประสานงาน ภาษาต่างประเทศหรือภาษาที่ 3 นอกจากภาษาอังกฤษและภาษาไทย ความสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีบุคลิกภาพที่ดี มารยาททางสังคม ซึ่งจากความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบัณฑิตควรมีความสามารถทั้งด้าน Hard Skills คือ ทักษะทางด้านวิชาการ และ Soft Skills คือ ทักษะการสื่อสาร ความเป็นผู้นำ การเจรจาต่อรอง และการบริหารจัดการเวลา จากการที่ต้องทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด สามารถรับมือกับความกดดันได้
2. ด้านความคิดเห็นของนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต้องการให้เพิ่มเติมเนื้อหาการเรียนการสอน ได้แก่ ทักษะและความรู้เกี่ยวกับสื่อดิจิทัล แนวทางการพัฒนาให้นักศึกษามีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับการกำหนดกลยุทธ์ในการสื่อสาร การศึกษาและปฏิบัติจริงการจัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event) การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมตามบริบทของโลกาภิวัตน์ (Globalization) และประเด็นทางสังคม (Social Movement) ที่สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แตกต่างจากที่ผ่านมา
หลังจากสำเร็จการศึกษา นักศึกษาบางส่วนมีความต้องการศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต ในหลักสูตรด้านการสื่อสารมวลชน การบริหารจัดการ การตลาด และหลักสูตรระยะสั้น เช่น ดิจิทัล การวิเคราะห์ Big Data นักศึกษาบางส่วนต้องการทำงานในภาครัฐและเอกชนที่ตรงกับสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษาและไม่ตรงกับที่เรียนมา เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ได้วางแผนว่าหลังสำเร็จการศึกษาจะทำอย่างไร
3. แนวทางการปรับตัวด้านการเรียนการสอนสื่อสารมวลชนให้สอดรับกับบริบททางสื่อสารมวลชนที่เปลี่ยนแปลงไป แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่
3.1 แนวทางการบริหารจัดการด้านหลักสูตรของสถาบันการศึกษา ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่รับบัณฑิตเข้าทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา การคัดเลือกอาจารย์ที่มีความเหมาะสมตรงกับหลักสูตรที่ต้องการปรับปรุง การผลิตบัณฑิตในลักษณะ Multi-tasking ทำงานได้หลากหลายหน้าที่ในทุกๆ แพลตฟอร์ม (Platform) การศึกษาข้ามศาสตร์ที่นอกเหนือไปจากนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์ เน้นการบูรณาการรายวิชาต่าง ๆ ให้มาประยุกต์ใช้งานได้ ให้ความสนใจค้นคว้าหาความรู้ตลอดชีวิต ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง (Life Long Learning) มีความรู้เท่าทันสื่อใหม่ทั้งในฐานะผู้ส่งสาร ผู้รับสาร และมีตรรกะ (Logic) มาสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ การปรับปรุงเนื้อหารายวิชา หลักสูตรเป็นระยะๆ เพื่อให้มีความทันสมัยทันต่อสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
3.2 แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับกลุ่มวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในคณะวารสารศาสตร์ฯ และนิเทศศาสตร์ ได้แก่ การสื่อสารองค์กร การสื่อสารตราสินค้า กลยุทธ์การเล่าเรื่อง การผลิตข่าวเชิงสืบสวน/สอบสวน การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม วาทวิทยา การสื่อสารเชิงกลยุทธ์และเทคนิคการเพิ่ม Engagement และเพิ่ม Reach ในสื่อ เนื้อหาที่หลากหลายพร้อม ๆ กัน (Multi-Platform, Multi-Content) รวมทั้งเนื้อหาที่สามารถข้ามสื่อได้ (Intertextual)
การมุ่งเน้นรายวิชาด้านการสื่อสารออนไลน์ เช่น การสื่อสารการตลาดดิจิทัล การตลาดออนไลน์ การบริหารการตลาดเชิงการสื่อสารออนไลน์ สื่ออินเตอร์แอ็คทีฟ แอนิเมชั่น Influencer, Blogger, Vlog, Online Celebrity ธุรกิจสื่อคอนเวอร์เจ้นท์ (Convergence) ให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติให้มากกว่าภาคทฤษฎีหรือบรรยาย (Lecture Based) รายวิชาด้านการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจในโซเชียลมีเดีย
การเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาได้บูรณการนำคุณลักษณะเด่นของสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) และสื่อใหม่มาผสมผสานการทำงานร่วมกัน เช่น ความถูกต้อง (สื่อเดิม) และข้อเท็จจริงถูกนำเสนออย่างรวดเร็ว (สื่อใหม่) รู้จักนำสื่อดั้งเดิมมาใช้งานในการสื่อสารองค์กรหรือประชาสัมพันธ์ ให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติ ฝึกการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือผลิตรายการ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก คือ มุ่งเน้นให้ปฏิบัติงานภายใต้จรรยาบรรณ คุณธรรม จริยธรรมที่ผู้ให้ข้อมูลด้านนักวิชาชีพให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างมาก
3.3 แนวทางการพัฒนาผู้สอน ได้แก่ จัดพื้นที่วิชาการให้อาจารย์/ผู้สอนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน (Academic Forum) การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้รู้จักสื่อดิจิทัลด้วยทัศนคติที่ดี ไม่เน้นการบรรยาย (Lecture Based) ผู้สอนมีบทบาทการเป็น Coach หรือ Facilitator ให้คำแนะนำ คำปรึกษา กระตุ้นให้แสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน
3.4 แนวทางการปรับตัวป้องกัน Media Disruption และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ด้วยการนำมาใช้ประโยชน์กับการทำงาน เช่น ใช้ระบบการค้นคว้าหาข้อมูล (ตามคุณลักษณะของสื่อใหม่) จากนั้นนำเสนอเนื้อหาในเชิงลึก (ตามคุณลักษณะของสื่อเดิม) แต่มีความรวดเร็วในการเผยแพร่ (ตามคุณลักษณะของโซเชียลมีเดีย) โดยให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติ เพื่อฝึกทักษะให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ
ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ณ เวลานี้มีบทบาทเพียงแค่ “ผู้ช่วย” รวบรวมข้อมูลจากพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือสิ่งที่ทำเป็นประจำหรืองานที่ทำซ้ำ ๆ เช่น การตอบคำถามขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ AI ไม่มีจิตใจเทียบเท่ามนุษย์ จึงยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ประเด็นที่อ่อนไหว เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน และประเด็นด้านเพศ (Gender) ฯลฯ
ทักษะด้านหนึ่งที่มีความสำคัญที่ AI และ Media Disruption ไม่ส่งผลกระทบต่อสายงานด้านการสื่อสาร/วารสารศาสตร์ คือ Soft Skills เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล ความเป็นทีมเวิร์ค (Team Work) ทำงานร่วมกัน มารยาททางสังคม ทักษะการเจรจาต่อรอง ความเป็นผู้นำ การให้ความร่วมมือ การบริหารจัดการด้านเวลา เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา จากการที่สื่อใหม่แข่งขันที่ความรวดเร็วในการนำเสนอ โดยข้อมูลที่เผยแพร่ควรจะต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ไขปัญหา เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการระบุปัญหาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ณ ปัจจุบัน AI ยังไม่สามารถทำงานดังกล่าวได้ดีเทียบเท่ามนุษย์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก TNW