- Home
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- ข่าวสารและการอบรม
- นักวิชาชีพชี้สื่อละเมิดสิทธิเด็กมีอยู่เสมอ ดึงผู้บริโภคสื่อ-นักข่าว ช่วยแก้
นักวิชาชีพชี้สื่อละเมิดสิทธิเด็กมีอยู่เสมอ ดึงผู้บริโภคสื่อ-นักข่าว ช่วยแก้
นักวิชาชีพสื่อชี้กรมประชาสัมพันธ์มีสถานีวิทยุมากแต่รายการเด็กยังน้อย-เนื้อหาไม่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ด้านกก.บริหารส.อิศรา ชี้การนำเสนอข่าวของสื่อยังละเมิดสิทธิเด็กอยู่ ชวนผู้บริโภคและนักข่าวร่วมปกป้อง ส่วนครูยุ่นห่วงการป้อนข้อมูลเท็จเท่ากับละเมิดทางอ้อม
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย จัด “พิธีมอบรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2553” ภายในงานมีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “สิทธิเด็กในสื่อ : ภาพสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” โดย นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวสิทธิเด็กในสื่อวิทยุกระจายเสียงว่า ขณะนี้สื่อวิทยุให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กน้อย สิ่งที่สะท้อนออกมาคือรูปแบบรายการสิทธิเด็กยังไม่มากเมื่อเทียบกับสถานีวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ที่มีทั่วประเทศ ขณะที่ด้านเนื้อหาก็ไม่ได้นำเสนอให้เด็กเป็นศูนย์กลาง
“จะเห็นว่าวันนี้เรื่องเด็กกับการคุ้มครองมีมากขึ้น แต่เด็กกับการมีส่วนร่วมน้อยอยู่ หากสื่อมวลชนหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น น่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาสื่อมวลชนไทย” นายบรรยงค์ กล่าว
ขณะที่นางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ กรรมการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึงการนำเสนอข่าวเรื่องเด็กในสื่อมวลชนมีปัญหามากพอสมควร แม้องค์กรสื่อจะมีแนวทางการดูแลกันเอง แต่ก็แค่บางส่วนและยังทำได้น้อยอยู่ สิ่งที่น่ากลัวคือวันนี้ยังมีการทำข่าวที่ละเมิดสิทธิเด็กอยู่เสมอ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คือ เสียงสะท้อนจากผู้บริโภค ที่สำคัญคือตัวนักข่าวเอง ที่ต้องมีสำนึกเรื่องดังกล่าวตลอดเวลา โดยไม่ต้องนั่งพูดหรือย้ำกันทุกครั้ง
“ถ้าเป็นเรื่องเด็ก คนที่เป็นนักข่าวต้องตื่นตัวและรอบคอบในการทำงาน การทำข่าวไม่ใช่สักแต่ว่าทำ อย่างน้อยๆ ควรการตรวจสอบว่า มีความผิดพลาดหรือช่องโหว่ตรงไหนบ้าง นั่นคือสิ่งที่ต้องพึงกระทำเสมอ เพราะทั้งนักข่าวและผู้บริโภคล้วนเป็นตัวป้องกันที่สำคัญให้กับเด็ก” นางสาวรุ่งมณี กล่าว
กรรมการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพ จะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างไม่ได้ ผู้ที่เข้ามาในวิชาชีพ ควรต้องเรียนรู้ด้วยตนองด้วย โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาเป็นสื่อต้องรักและเคารพในวิชาชีพ ซึ่งการเรียนรู้แม้จะสำคัญ แต่ก็เป็นเรื่องรอง
ขณะที่ นายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดข่าวรุนแรงกับเด็กกว่า 3,000 ข่าว แต่การร้องเรียนเกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งที่เห็นชัดเจนคือสื่อมีส่วนช่วยเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิหลายกรณี ข้อสังเกตคือเมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุ สื่อจะเป็นตัวผลักให้มีการดำเนินคดีเร็วขึ้น หรือผู้กระทำถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสื่อยังเผลอเลอยู่บ้าง
“เด็กก็คือผู้บริโภคสื่อคนหนึ่ง การนำเสนออะไรก็ตามที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง เท่ากับเป็นการละเมิดเด็กที่สื่อควรหันมาตรวจสอบ ซึ่งการทำงานของนักข่าวรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต โดยส่วนตัวไม่สนใจเรื่องความรู้มาก แต่สนใจประสบการณ์ชีวิต และอย่าลืมว่าครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นเด็ก การจะทำหรือนำเสนออะไรต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย” นายมนตรี กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ประมณฑ์ ตั้งตระกูลทรัพย์ 084-0102192