- Home
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.)
- หลักการและเหตุผล
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9
หลักการเหตุผลความจำเป็น
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะความคิดเห็นของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ที่เห็นไม่ตรงกันจนกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมถึงการสร้างข่าวปลอม (FAKE NEWS) ที่สร้างความสับสนให้แก่สังคม ด้วยเหตุนี้เอง สื่อมวลชนที่มีคุณภาพจะเข้ามาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมไปถึงการช่วยบรรเทาเยียวยาเพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตามหลายครั้งที่ผ่านมา สื่อมวลชนมักถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและการทำหน้าที่อยู่เสมอ ๆ แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ สื่อมวลชนยังคงเป็นตัวกลางในการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้คนในสังคม หรือการอยู่กึ่งกลางระหว่างประชาชนกับฐานอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนยังมีความสำคัญยิ่ง
ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นปริมาณข้อมูลข่าวที่เกิดขึ้นและไหลเวียนในแต่ละวันมีจำนวนมากมายและหลากหลาย มีทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก ในขณะที่สื่อหลักอย่างสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ยังต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค ไม่นับรวมสื่อสังคมออนไลน์ สื่อบุคคล เรียกได้ว่า ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสารได้ทั้งสิ้น แต่ถึงที่สุดแล้ว สื่อมวลชนก็ยังมีความสำคัญถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร บนพื้นฐานและหลักการที่ว่า สื่อมวลชนมีสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของสังคม นี่เป็นจุดที่ทำให้สื่อมวลชนแตกต่างจากสื่อบุคคลอื่น ๆ
นับเป็นโอกาสอันดี การที่องค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนของไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ และนำไปสู่การเพิ่มพูนทักษะความสามารถให้กับบุคลากรในวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการคิดและวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่ต้องมีการเพาะบ่มปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งให้มีความตระหนักรู้และยึดหลักของ ธรรมาภิบาลเป็นสำคัญในขณะเดียวกันยังเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างกับสื่อมวลชน
สถาบันอิศรา ในฐานะที่รับผิดชอบในการจัดทำโครงการฝึกอบรมระยะยาวให้กับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อทางด้านโทรทัศน์ดิจิทัลที่เห็นชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การปรับและขยายตัวของสื่อโทรทัศน์ทำให้มีจำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้น แต่การผลิตหรือการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจสื่อที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วยังไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรม จึงก่อให้เกิดการไหลเวียนของบุคลากรในวิชาชีพสื่อทางด้านสิ่งพิมพ์และวิทยุที่ผันตัวเองเข้ามาทำงานด้านโทรทัศน์แทน ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษายังขาดประสบการณ์ในการทำงาน แต่ต้องทำหน้าที่ท่ามกลางสภาวการณ์แข่งขันที่ทวีความรุนแรงของสื่อโทรทัศน์ จึงเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคนี้ ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันอิศราจึงเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำโครงการเพื่อเพิ่มทักษะการทำงานให้กับบุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะโครงการอบรมหลักสูตระยะยาวที่เปิดโอกาสให้กับนักวิชาชีพสื่อที่มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและส่วนราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างกันร่วมกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นอีกช่องทางในการเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น การพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแนวคิด สร้างทัศนคติ ค่านิยมและพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถนำไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาชีพของตนเองและประเทศชาติต่อไปได้
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 บรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ระหว่างผู้เข้ารับการอบรม ในหัวข้อด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
3. เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการบริหารสำหรับผู้บริหารระดับกลางขององค์กรสื่อและผู้เกี่ยวข้อง
4. เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้เข้าร่วมอบรมจากภาคส่วนอื่น ๆ ได้ตระหนักถึงจริยธรรมและคุณธรรม
5. เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับนักวิชาการและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 ในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้บริหารระดับกลางจากสื่อมวลชน ตั้งแต่ระดับผู้สื่อข่าวอาวุโส หรือรีไรท์เตอร์ขึ้นไปถึงระดับหัวหน้าข่าวที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี ทางด้าน วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากส่วนกลางและท้องถิ่น จำนวน 30 คน
2. นักวิชาการ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน ที่มีอายุงานตั้งแต่ 7 ปี หรืออายุ 30 ปีขึ้นไป จำนวน 5 คน
3. ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือหัวหน้าโครงการที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจำนวน 5 คน
4. ผู้บริหารองค์กรรัฐหรือองค์กรวิชาชีพ ตั้งแต่ระดับหัวหน้างานขึ้นไปและมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี จำนวน 5 คน
5. ผู้บริหารองค์กรเอกชน ตั้งแต่ระดับหัวหน้าแผนกขึ้นไป และอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี จำนวน 10 คน
6. ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร
จำนวนผู้เข้าอบรม
รวมทั้งสิ้น 55 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้เข้าอบรมที่มีความเหมาะสม ทำให้ผู้เข้าอบรมทั้งหมดสามารถจดจำกันได้อย่างทั่วถึง และสะดวกในการจัดทำกิจกรรมกลุ่มในระหว่างการอบรมด้วย ส่วนการกำหนดสัดส่วนผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มวิชาชีพสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
ค่าใช้จ่ายในการอบรม
ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
วิธีดำเนินการอบรม
การอบรมหลักสูตรนี้มีวิธีการศึกษาดังนี้
1. การบรรยายและอภิปราย เป็นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามเนื้อหาวิชาและหัวข้อที่กำหนด โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจากหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในหลักสูตรการอบรมยังได้กำหนดให้มีการเปิดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นระหว่างกัน
2. การสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้กำหนดหัวข้อหรือประเด็นที่สนใจหรือเป็นข้อถกเถียงของสังคม เป็นการจัดเวทีเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน และนำเสนอความคิดเห็นสู่สาธารณะ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน และการจัดสัมมนาสาธารณะซึ่งเป็นผลงานของผู้เข้าอบรม โดยเปิดโอกาสให้เชิญบุคคลภายนอก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การเสนอทางออก แนวทางการแก้ไข หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
2.1. ผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำสัมมนาทั้ง 2 ส่วน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมในหลักสูตรนี้
2.2. มีการแบ่งผู้เข้าอบรมออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบในการจัดสัมมนาหรือเสวนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน โดยเน้นประเด็นปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
2.3. ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรนี้ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการจัดสัมมนาสาธารณะ 1 หัวข้อ โดยกำหนดหัวข้อสัมมนา การเชิญวิทยากรและการจัดเตรียมงานกันเองทั้งหมด
3. การจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ ดังนั้นผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคล โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และจะต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร ก่อนสิ้นสุดการอบรม
4. การศึกษาดูงาน แบ่งเป็นการศึกษาดูงานในองค์กรด้านสื่อหรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับสื่อภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนด้วย เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ ตลอดจนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาดูงานในส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ 1 ครั้ง (ภายใน 1 วัน) และการศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค 1 ครั้ง (3 วัน) ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาดูงานอย่างเหมาะสม
ระยะเวลาและขอบเขตของการอบรม
การอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 กำหนดระยะเวลาในการอบรมรวม 5 เดือน หรือประมาณ 21 สัปดาห์ การอบรมจัดขึ้นทุกวันเสาร์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ – วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ระยะเวลาในการอบรมรวม 105 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ภาค ดังนี้
1. ภาควิชาการ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการอบรมในชั้นเรียนทุกวันเสาร์ การอบรมจะเป็นรูปแบบของการบรรยาย การอภิปรายและการสัมมนา โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้ารับการอบรมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ตามหัวข้อที่กำหนด ประกอบด้วย
1.1. การบรรยายและอภิปราย 45 ชั่วโมง
1.2. การสัมมนา 18 ชั่วโมง
การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน 15 ชั่วโมง
การสัมมนาสาธารณะ 3 ชั่วโมง
1.3. การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและชี้แจงการทำรายงาน 18 ชั่วโมง
1.4. การศึกษาดูงาน 2 ครั้ง 24 ชั่วโมง
ส่วนกลาง (1 ครั้ง) 6 ชั่วโมง
ส่วนภูมิภาค (1 ครั้ง) 18 ชั่วโมง
ภาพรวมการแบ่งสัดส่วนแต่ละกลุ่มของการอบรมในหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย การบรรยายและอภิปราย คิดเป็น ร้อยละ 42.86 การสัมมนาและการจัดสัมมนาสาธารณะ ร้อยละ 17.14 การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและการชี้แจงการทำรายงาน ร้อยละ 17.14 การศึกษาดูงาน ร้อยละ 22.86
2. ภาคการจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำรายงานเฉพาะบุคคลเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและคณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
2.1. การนำเสนอหัวข้อและเค้าโครงรายงานเฉพาะบุคคล
2.2. การปรึกษาคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการทำรายงานเฉพาะบุคคล
2.3. การนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการและผู้เข้าอบรม คนละ 10 นาที โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมวิพากษ์และผู้เข้าอบรมร่วมเสนอแนะ และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอคณะกรรมการหลักสูตรและที่ปรึกษาพิจารณา ก่อนการอนุมัติขั้นสุดท้ายโดยผู้อำนวยการสถาบันอิศรา
เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม
ในการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร (บสก.) รุ่นที่ 9 กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการอบรมไว้ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีเวลาเข้าฟังและเสนอความคิดเห็นในห้องเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของเวลาเรียนทั้งหมด ผู้ที่ขาดการอบรมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งขอความกรุณาส่งใบลา แต่ยังนับว่าเป็นวันขาดเรียน
2. มีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดหลักสูตร และต้องเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาดูงาน การจัดสัมมนากลุ่มย่อยและการจัดสัมมนาสาธารณะ
3. จัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลและส่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร
4. จัดทำรายงานและนำเสนอผลงานหรืองานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนดเวลา และจะต้องส่งฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการหลักสูตรในการพิจารณาจบหลักสูตร
5. ผู้เข้าอบรมที่ได้รับการพิจารณาได้รับโล่ผู้เข้าอบรมดีเด่น จะต้องเป็นผู้ที่เข้ารับการอบรมทุกกิจกรรมตลอดหลักสูตรนับตั้งแต่วันปฐมนิเทศ และต้องอยู่ร่วมการอบรมครบในทุกช่วงเวลา เช่น รับฟังการบรรยายตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น. หรือจน กว่าการบรรยายจะสิ้นสุดลง (ไม่นับรวมผู้ที่เซ็นชื่อเข้าอบรมหลังเวลา 09.00 น. หรือออกก่อนเวลา 16.00 น. หรือไม่ได้เข้าฟังการบรรยายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง) และจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมในการศึกษาดูงานทุกภารกิจ ซึ่งเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร หรือตารางการศึกษาดูงาน รวมทั้งการจัดทำรายงานเฉพาะบุคคลต้องเป็นไปตามกรอบเวลาของสถาบันและผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน
องค์ประกอบของหลักสูตร
การอบรมครั้งนี้ แบ่งออกเป็นกลุ่มวิชา แยกเป็น 5 หมวด รวม 45 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1. โลกแห่งอนาคต จำนวน 12 ชั่วโมง
2. พลวัตประเทศไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง จำนวน 9 ชั่วโมง
3. ภูมิทัศน์สื่อใหม่ จำนวน 9 ชั่วโมง
4. การเสริมทักษะในวิชาชีพ จำนวน 9 ชั่วโมง
5. การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 6 ชั่วโมง
หมวดที่ 1 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก แบ่งเป็นมิติด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1.1. ภูมิศาสตร์การเมืองโลก จำนวน 3 ชั่วโมง
1.2. เทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจใหม่ (new technology, new economy) จำนวน 3 ชั่วโมง
1.3. สถานการณ์เศรษฐกิจโลก : จีน VS สหรัฐ จำนวน 3 ชั่วโมง
1.4. สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 2 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและหลักสิทธิมนุษยชน จำนวน 9ชั่วโมง ประกอบด้วย
2.1. อนาคตการเมืองไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.2. เศรษฐกิจไทย : โอกาสและความท้าทาย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.3. คอร์รัปชันในสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของภูมิทัศน์สื่อใหม่ (New Media Landscape) การปรับตัวของสื่อในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการเนื้อหา (Content) เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มทางการตลาด รวมไปถึงเข้าใจกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และจริยธรรมวิชาชีพสื่อ จำนวน 9 ชั่วโมง ประกอบด้วย
3.1. ปฏิวัติช่องทางการสื่อสารในยุคสื่อใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
3.2. การทำการตลาดจากเนื้อหา (Content Marketing) จำนวน 3 ชั่วโมง
3.3. ความท้าทายสื่อยุคเปลี่ยนผ่าน (มุมมองจริยธรรมสื่อในมิติต่าง ๆ) จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการเพิ่มทักษะการทำงานสื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน การบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมาก หรือข้อมูลที่มีความซับซ้อนเข้าใจยาก ใช้เทคนิควิธีการสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้มีความน่าสนใจ ชัดเจน และสื่อสารได้ตรงประเด็น จำนวน 9 ชั่วโมง ประกอบด้วย
4.1. การบริหารจัดการสื่อยุคใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
4.2. วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) จำนวน 3 ชั่วโมง
4.3. การแสดงข้อมูลแบบประยุกต์ (Data visualization) จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 5 ว่าด้วยประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 6 ชั่วโมง ประกอบด้วย
5.1. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 3 ชั่วโมง
5.2. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 3 ชั่วโมง
กำหนดการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9
ระยะเวลาการอบรม 5 เดือน หรือประมาณ 18 สัปดาห์ (105 ชั่วโมง)
ระหว่างวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ – วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2563
หมายเหตุ
กำหนดการฝึกอบรมที่ได้กำหนดรายชื่อวิทยากรไว้แล้วนั้น เป็นการติดต่อประสานงานล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดการจริง อาจมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากรหรือเปลี่ยนเวลาในการบรรยายได้ ในกรณีที่วิทยากรติดภารกิจด่วน ซึ่งการเชิญวิทยากรท่านอื่นมาทดแทน ทางสถาบันอิศราฯ จะเชิญวิทยากรที่มีคุณสมบัติและคุณวุฒิที่ใกล้เคียงกับวิทยากรท่านเดิม