- Home
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.)
- หลักการและเหตุผล
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7
หลักการและเหตุผล
ในสภาวการณ์ที่ประเทศชาติกำลังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเห็นที่แตกต่างและนำไปสู่ความแตกแยกของผู้คนในสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนจึงเป็นความหวังหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมไปถึงการช่วยบรรเทาเยียวยาเพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคมได้ แม้ว่าหลายครั้งที่ผ่านมาสื่อมวลชนก็อาจถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและการทำหน้าที่ได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สื่อยังคงเป็นตัวกลางในการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้คนในสังคม สื่อจึงต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างประชาชนกับฐานอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม บทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงถือว่ามีความสำคัญยิ่ง
ที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยถูกมองว่ามีสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ค่อนข้างมาก แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาจะมีหลายช่วงเวลาที่มีความพยายามของบรรดากลุ่มทุน กลุ่มการเมืองที่อาจแอบแฝงเข้ามาผ่านเครือข่ายนายทุนนักธุรกิจที่เข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อในรูปแบและวิธีการต่าง ๆ รวมถึงมีการใช้กลยุทธ์และหลักการตลาดเข้าช่วยในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ชูนโยบายใหม่ ๆ เพื่อสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นกับกลุ่มและเครือข่ายของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้นการเพิ่มพูนทักษะความรู้และหลักวิชาการในสมัยใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน
ในยุคของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ทำให้ปริมาณข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีจำนวนมาก ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกต่าง ๆ แม้แต่สื่อหลักอย่างสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ก็มีหลากหลายทางเลือกให้กับผู้บริโภค ยังไม่รวมสื่อสังคมออนไลน์ สื่อภาคประชาชน เรียกได้ว่าทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อได้ทั้งสิ้นแต่ถึงที่สุดแล้ว สื่อมวลชนก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมให้การยอมรับและเชื่อถือมากกว่า การทำหน้าที่ของสื่อจึงถือว่าสำคัญ แม้ว่าสื่อมวลชนจะมีสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ แต่จะต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้สื่อมวลชนแตกต่างจากสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ
นับเป็นโอกาสอันดี การที่องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนของไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และนำไปสู่การการเพิ่มพูนทักษะความสามารถให้กับบุคลากรในวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบการเข้าถึงและการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างธรรมาภิบาล ให้เกิดขึ้นและพัฒนาศักยภาพของสื่อในภาคประชาชน ตลอดจนการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมกับสื่อมวลชน
ดังนั้น ทางสถาบันอิศรา จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมระยะยาวสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อ โดยเฉพาะสื่อทางด้านโทรทัศน์ดิจิทัล จะเห็นว่า ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา มีการขยายตัวของสื่อโทรทัศน์ที่มีจำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การผลิตหรือการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจสื่อที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วยังไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการไหลเวียนของบุคลากรในวิชาชีพสื่อทางด้านสิ่งพิมพ์และวิทยุเข้ามาทำงานด้านโทรทัศน์แทน ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวภาคสนามกลายเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งจบการศึกษาและยังขาดประสบการณ์ แต่ต้องตกอยู่ท่ามกลางสภาวการณ์แข่งขันที่ทวีความรุนแรงของของสื่อโทรทัศน์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคนี้ ด้วยเหตุนี้ สถาบันอิศรา จึงได้ตระหนักถึงบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยให้เป็นกระจกเงาเพื่อสะท้อนความเป็นไปของสังคม และคอยชี้นำแนะแนวทางที่ถูกต้อง และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลากรในวิชาชีพสื่อเป็นอย่างยิ่ง
การจัดโครงการอบรมหลักสูตระยะยาว เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้บริหารระดับกลาง ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและส่วนราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ภายใต้หลักสูตรที่ชื่อว่า หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารจากองค์กรด้านสื่อสารมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างกันร่วมกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแนวคิด สร้างทัศนคติ ค่านิยมและพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้ง ยังสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาชีพของตนเองและประเทศชาติต่อไปได้
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ระหว่างผู้เข้ารับการอบรมในหัวข้อทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
3. เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการบริหารสำหรับผู้บริหารระดับกลางขององค์กรสื่อและผู้เกี่ยวข้อง
4. เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้เข้าร่วมอบรมจากภาคส่วนอื่น ๆ ได้ตระหนักถึงจริยธรรมและคุณธรรม
5. เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับนักวิชาการและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 ในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้บริหารระดับกลางจากสื่อมวลชน ตั้งแต่ระดับผู้สื่อข่าวอาวุโส หรือรีไรท์เตอร์ขึ้นไปถึงระดับหัวหน้าข่าวที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 45 ปี ทางด้าน วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากส่วนกลางและท้องถิ่น จำนวน 30 คน
2. นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ที่มีอายุงานตั้งแต่ 7 ปี หรืออายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 ปี จำนวน 5 คน
3. ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือหัวหน้าโครงการที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 ปี จำนวน 5 คน
4. ผู้บริหารองค์กรรัฐหรือองค์กรวิชาชีพ ตั้งแต่ระดับหัวหน้างานขึ้นไปและมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี จำนวน 5 คน
5. ผู้บริหารองค์กรเอกชน ตั้งแต่ระดับหัวหน้าแผนกขึ้นไป และอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 45 ปี จำนวน 9 คน
6. ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร
หมายเหตุ : ในกรณีที่ผู้สมัครเคยเข้ารับการอบรมในหลักสูตร กสต. มาก่อน ต้องเว้นระยะไม่น้อยกว่า 5 รุ่น
จำนวนผู้เข้าอบรม
รวมทั้งสิ้น 54 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้เข้าอบรมที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้เข้าอบรมที่มาจากแต่ละกลุ่มวิชาชีพ สิ่งสำคัญทำให้ผู้เข้าอบรมทั้งหมดสามารถจดจำกันได้อย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับการจัดทำกิจกรรมกลุ่มในระหว่างการอบรมด้วย
วิธีดำเนินการอบรม
การอบรมหลักสูตรนี้มีวิธีการศึกษาดังนี้
1. การบรรยายและอภิปราย เป็นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามเนื้อหาวิชาและหัวข้อที่กำหนด โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจากหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในหลักสูตรการอบรมยังได้กำหนดให้มีการเปิดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นระหว่างกัน
2. การสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้กำหนดหัวข้อหรือประเด็นที่สนใจหรือเป็นข้อถกเถียงของสังคม เป็นการจัดเวทีเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน และนำเสนอความคิดเห็น สู่สาธารณะ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน ในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน (ไม่อนุญาตให้เชิญวิทยากรจากภายนอก) ส่วนการจัดสัมมนาสาธารณะถือเป็นผลงานของผู้เข้าอบรมหลักสูตร บสก. รุ่นที่ 7 จึงเปิดโอกาสให้เชิญบุคคลภายนอก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการนำเสนอความคิดเห็น ข้อเท็จจริงในประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพื่อนำไปสู่การเสนอทางออก แนวทางการแก้ไข หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
2.1. ผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำสัมมนาทั้ง 2 ส่วน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมในหลักสูตรนี้
2.2. มีการแบ่งผู้เข้าอบรมออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบในการจัดสัมมนาหรือเสวนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน โดยเน้นประเด็นปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
2.3. ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรนี้ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการจัดสัมมนาสาธารณะ 1 หัวข้อ โดยกำหนดหัวข้อสัมมนา การเชิญวิทยากรและการจัดเตรียมงานกันเองทั้งหมด
3. การจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ ดังนั้นผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคล โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และจะต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร ก่อนสิ้นสุดการอบรม
4. การศึกษาดูงาน แบ่งเป็นการศึกษาดูงานในองค์กรด้านสื่อ หรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ ตลอดจนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาดูงานในส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ 1 ครั้ง (ภายใน 1 วัน) และการศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค 2 ครั้ง (2 วัน และ 3 วัน ) ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาดูงานอย่างเหมาะสม
ระยะเวลาและขอบเขตของการอบรม
การอบรมหลักสูตรหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 กำหนดระยะเวลาในการอบรมรวม 4 เดือนครึ่ง หรือ ประมาณ 19 สัปดาห์ การอบรมทุกวันเสาร์ ระหว่าง วันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2560 – วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2561 เวลา 09.00 – 16.00 น. สถานที่ใช้ในการจัดอบรม ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ระยะเวลาในการอบรมรวม 135 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ภาค ดังนี้
1. ภาควิชาการ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการอบรมในชั้นเรียนทุกวันเสาร์ ซึ่งการอบรมจะเป็นรูปแบบของ การบรรยาย การอภิปรายและการสัมมนา โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้ารับการอบรมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ตามหัวข้อที่กำหนด ประกอบด้วย
1.1. การบรรยายและอภิปราย 63 ชั่วโมง
1.2. การสัมมนา 18 ชั่วโมง
การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน 15 ชั่วโมง
การสัมมนาสาธารณะ 3 ชั่วโมง
1.3. การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและชี้แจงการทำรายงาน 18 ชั่วโมง
1.4. การศึกษาดูงาน 3 ครั้ง 36 ชั่วโมง
ส่วนกลาง (1 ครั้ง) 6 ชั่วโมง
ส่วนภูมิภาค (2 ครั้ง) 30 ชั่วโมง
ภาพรวมการแบ่งสัดส่วนแต่ละกลุ่มของการอบรมในหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย การบรรยายและอภิปราย คิดเป็น ร้อยละ 46.66 การสัมมนาและการจัดสัมมนาสาธารณะ ร้อยละ 13.33 การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและการชี้แจงการทำรายงาน ร้อยละ 13.33 การศึกษาดูงาน ร้อยละ 26.68
2. ภาคการจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำรายงานเฉพาะบุคคลเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและคณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
2.1. การนำเสนอหัวข้อและเค้าโครงรายงานเฉพาะบุคคล
2.2. การปรึกษาคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการทำรายงานเฉพาะบุคคล
2.3. การนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการและผู้เข้าอบรม คนละ 10 นาที โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมวิพากษ์และผู้เข้าอบรมร่วมเสนอแนะ และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอคณะกรรมการหลักสูตรและที่ปรึกษาพิจารณา ก่อนการอนุมัติขั้นสุดท้ายโดยผู้อำนวยการสถาบันอิศรา
เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม
การเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการอบรมไว้ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีเวลาเข้าฟังและเสนอความคิดเห็นในห้องเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. มีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดหลักสูตร และต้องเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาดูงาน การจัดสัมมนากลุ่มย่อยและการจัดสัมมนาสาธารณะ
3. จัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลและส่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร
4. จัดทำรายงานและนำเสนอผลงานหรืองานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนดเวลา และจะต้องส่งฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการหลักสูตรในการพิจารณาจบหลักสูตร
องค์ประกอบของหลักสูตร
การอบรมครั้งนี้ แบ่งออกเป็นกลุ่มวิชา แยกเป็น 5 หมวด รวม 63 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1. โลกแห่งอนาคต จำนวน 15 ชั่วโมง
2. พลวัตประเทศไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง จำนวน 15 ชั่วโมง
3. ภูมิทัศน์สื่อใหม่ จำนวน 15 ชั่วโมง
4. การเสริมทักษะในวิชาชีพ จำนวน 12 ชั่วโมง
5. การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 6 ชั่วโมง
หมวดที่ 1 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก แบ่งเป็นมิติด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มของชาติมหาอำนาจต่าง ๆ กับท่าทีและจุดยืนแต่ละขั้วอำนาจกับผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ รวมถึงการเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อมองให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางในอนาคต ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิด วิธีการและรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ และหลักการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน จำนวน 15 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1.1. ภูมิศาสตร์การเมืองโลก จำนวน 3 ชั่วโมง
1.2. เทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจใหม่ (new technology, new economy) จำนวน 3 ชั่วโมง
1.3. สถานการณ์เศรษฐกิจโลก จำนวน 3 ชั่วโมง
1.4. วิถีธุรกิจแห่งอนาคต จำนวน 3 ชั่วโมง
1.5. สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 2 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชน การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและระบบการศึกษาไทย เศรษฐศาสตร์และทิศทางเศรษฐกิจ จำนวน 15 ชั่วโมง ประกอบด้วย
2.1. การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 3 ชั่วโมง
2.2. เศรษฐกิจไทย : โอกาสและความท้าทาย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.3. ปัญหาสิทธิมนุษยชนกับทางออก จำนวน 3 ชั่วโมง
2.4. การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ จำนวน 1.5 ชั่วโมง
การปฏิรูประบบการศึกษา จำนวน 1.5 ชั่วโมง
2.5. คอร์รัปชั่นในสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของภูมิทัศน์สื่อใหม่ (New Media Landscape) เพื่อการเรียนรู้เรื่องการปรับตัวของสื่อในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ตลอดจนการปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการเนื้อหา (Content) เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มทางการตลาด รวมไปถึงเข้าใจกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และจริยธรรมวิชาชีพสื่อ จำนวน 15 ชั่วโมง ประกอบด้วย
3.1. สื่อมวลชนกับการปรับตัวในยุคดิจิทัล จำนวน 3 ชั่วโมง
3.2. การเรียนรู้ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
3.3. การทำการตลาดจากเนื้อหา (Content Marketing) จำนวน 3 ชั่วโมง
3.4. ระบบกำกับดูแลในภูมิทัศน์สื่อใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
3.5. จริยธรรมสื่อในยุค 4.0 จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการเพิ่มเติมทักษะการทำงานสื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมาก หรือข้อมูลที่มีความซับซ้อนเข้าใจยาก ใช้เทคนิควิธีการสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้มีความน่าสนใจ ชัดเจน และสื่อสารได้ตรงประเด็น จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
4.1. วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) จำนวน 3 ชั่วโมง
4.2. การแสดงข้อมูลแบบประยุกต์ (Data Visualization) จำนวน 3 ชั่วโมง
4.3. การบริหารจัดการสื่อออนไลน์ จำนวน 3 ชั่วโมง
4.4. การเขียนเชิงสร้างสรรค์ (Creative Writing) จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดที่ 5 ว่าด้วยประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 6 ชั่วโมง ประกอบด้วย
5.1. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 1 จำนวน 3 ชั่วโมง
5.2. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 2 จำนวน 3 ชั่วโมง
กำหนดการหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7
ระยะเวลาการอบรม 4 เดือนครึ่ง หรือ 19 สัปดาห์ (135 ชั่วโมง)
ระหว่างวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2560 – วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2561
เตรียมตัวสัปดาห์ที่ 1 วันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2560 |
|
การปฐมนิเทศ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน |
|
เตรียมตัวสัปดาห์ที่ 2 วันเสาร์ที่ 7 – วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2560 |
|
|
การสัมมนาเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอบรม ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน จังหวัดชลบุรี |
วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560 |
|
|
วันหยุดต่อเนื่องวันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 |
สัปดาห์ที่ 1 วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2560 |
|
(หัวข้อที่ 1) |
วิถีธุรกิจแห่งอนาคต โดย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด |
(หัวข้อที่ 2) |
เทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจใหม่ (new technology, new economy) โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) |
วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560 |
|
|
วันหยุดต่อเนื่องวันพระราชพิธีถวายพระเพลิง รัชกาลที่ 9 |
สัปดาห์ที่ 2 วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2560 |
|
(หัวข้อที่ 3) |
สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) |
|
ชี้แจงการจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคล โดย คณะกรรมการที่ปรึกษารายงานเฉพาะบุคคล |
การจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล กรอบและแนวทางการจัดทำรายงานเฉพาะบุคคลเบื้องต้น โดย รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์ รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์และการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย |
|
สัปดาห์ที่ 3 วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2560 |
|
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 1 หัวข้อ “เสรีภาพสื่อมวลชน”
|
|
(หัวข้อที่ 4) |
ภูมิศาสตร์การเมืองโลก โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สัปดาห์ที่ 4 วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560 |
|
ศึกษาดูงานส่วนกลาง ณ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีพีแรม จำกัด สำนักงานใหญ่ (ลาดหลุมแก้ว) |
|
สัปดาห์ที่ 4 (ต่อ) วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560 |
|
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 2 หัวข้อ “จริยธรรมสื่อมวลชน” |
|
(หัวข้อที่ 5) |
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
สัปดาห์ที่ 5 วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2560 |
|
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 3 หัวข้อ "อนาคตทีวีดิจิทัล” |
|
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 4 หัวข้อ “อาชีพสื่อ หรือ สื่อมืออาชีพ” |
|
สัปดาห์ที่ 6 วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2560 |
|
(หัวข้อที่ 6) |
มุมมองด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
(หัวข้อที่ 7) |
Policy Literacy : คำถามที่สาธารณชนควรถามเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) |
วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2560 |
|
วันหยุดต่อเนื่องวันรัฐธรรมนูญ |
|
สัปดาห์ที่ 7 วันศุกร์ที่ 15 – วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2560 |
|
ศึกษาดูงานส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดกาญจนบุรี – จังหวัดเพชรบุรี – จังหวัดสมุทรสาคร |
|
สัปดาห์ที่ 8 วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2560 |
|
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 5 หัวข้อ “ภูมิทัศน์สื่อใหม่” |
|
(หัวข้อที่ 8) |
จริยธรรมสื่อในยุค 4.0 โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
|
วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2560 |
|
วันหยุดต่อเนื่องเทศกาลปีใหม่
|
|
สัปดาห์ที่ 9 วันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 9) |
การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) |
การปฏิรูประบบการศึกษา โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ |
|
(หัวข้อที่ 10) |
ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ รีเชค หรือ รีเซ็ท พรรคการเมือง ใครได้ประโยชน์ โดย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหน้าหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
สัปดาห์ที่ 10 วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 11) |
คอรัปชั่นในสังคมไทย โดย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน |
(หัวข้อที่ 12) |
สื่อมวลชนกับการปรับตัวในยุคดิจิทัล โดย นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) |
สัปดาห์ที่ 11 วันศุกร์ที่ 19 – วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2561 |
|
ศึกษาดูงานส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเชียงราย – จังหวัดเชียงใหม่ |
|
สัปดาห์ที่ 12 วันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 13) |
การเรียนรู้ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย |
(หัวข้อที่ 14) |
การทำการตลาดจากเนื้อหา (Content Marketing) โดย นางสาวปภาดา อมรนุรัตน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัพเลเวลโกล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง SEO เลขาธิการชมรมเสริ์ชเอนจิ้นมาร์เก็ตติ้งไทย ผู้เขียนหนังสือ รวยด้วยคลิก Google Adsense |
สัปดาห์ที่ 13 วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 |
|
(หัวข้อที่ 15) |
ระบบกำกับดูแลในภูมิทัศน์สื่อใหม่ โดย นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะทำงาน NBTC Policy Watch |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (1) |
|
สัปดาห์ที่ 14 วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 |
|
(หัวข้อที่ 16) |
ปัญหาสิทธิมนุษยชนกับทางออก โดย นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ของฮิวแมนไรท์วอทช์ |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (2) |
|
สัปดาห์ที่ 15 วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 |
|
(หัวข้อที่ 17) |
วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) โดย นางสาวบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นายฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้ก่อตั้งบุญมีแล๊ป และ Interaction Designer ดร.ภูริพันธ์ รุจิขจร ก่อตั้งบุญมีแล๊ป และ Data Specialist |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (3) |
|
สัปดาห์ที่ 16 วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 |
|
(หัวข้อที่ 18) |
การแสดงข้อมูลแบบประยุกต์ (Data Visualization) โดย นายพีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารธารณะ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (4) |
|
สัปดาห์ที่ 17 วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 19) |
ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “Bitcoin จริงหรือลวง” โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง ACIS Professional Center Co., Ltd. (ACIS) |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (5) |
|
สัปดาห์ที่ 18 วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 20) |
การบริหารจัดการสื่อออนไลน์ โดย นางสาวสุธิดา มาไลยพันธุ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานด้านสื่อดิจิตอล Head of Digital Business บริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ Manager Online |
(หัวข้อที่ 21) |
การเขียนเชิงสร้างสรรค์ (Creative Writing) โดย นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard นายนิวัฒน์ ชาตะวิทยากูล กรรมการบริหาร Jamsai Group (แจ่มใส กรุ๊ป) |
สัปดาห์ที่ 19 วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2561 |
|
การจัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทยจริงหรือ? ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดย ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสก.) รุ่นที่ 7 |
หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชน ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ประกอบด้วยสื่อด้านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ รวมทั้งภาคเครือข่ายอื่น ๆ จากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้รับการพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและกฎหมายรวมทั้งกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในขณะที่เครือข่ายอื่น ๆ ได้เข้าใจและดำเนินการร่วมมือกับสื่อมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
2. เกิดการประสานงานเป็นเครือข่ายร่วมกันระหว่างผู้เข้ารับการอบรมเพื่อมีส่วนร่วมในการผลักดันสังคมไปสู่การสื่อสารที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะบางประเด็นที่มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (เอ็นจีโอ) กับหน่วยงานหรือรัฐวิสาหกิจ มีจุดในบางเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ประโยชน์ของการสร้างเป็นเครือข่ายกัน ทำให้แต่ละฝ่ายพร้อมจะเปิดใจรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งในขณะที่อีกฝ่ายก็พร้อมรับฟังข้อท้วงติงของอีกฝ่ายเช่นกันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าอบรมด้วยกัน ทำให้เกิดมุมมองแนวคิดใหม่ ๆร่วมกันด้วย
3. กลุ่มประชาชนผู้รับสาร ได้ข้อมูลข่าวสารจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้และทักษะทางด้านวิชาชีพต่าง ๆ เนื่องจากสื่อมวลชนถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อผู้คนและสามารถชี้นำทิศทางของสังคมได้ ดังนั้นสื่อที่ดี มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่ดีจะผลิตเนื้อหาข่าวสารและสาระความรู้ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและส่วนรวมในทิศทางที่ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทบตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนในวิชาชีพสื่อมวลชนจะต้องได้รับการพัฒนาเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะเหล่านี้