- Home
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.)
- หลักการและเหตุผล
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9
หลักการเหตุผลความจำเป็น
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะความคิดเห็นของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ที่เห็นไม่ตรงกันจนกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมถึงการสร้างข่าวปลอม (FAKE NEWS) ที่สร้างความสับสนให้แก่สังคม ด้วยเหตุนี้เอง สื่อมวลชนที่มีคุณภาพจะเข้ามาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมไปถึงการช่วยบรรเทาเยียวยาเพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตามหลายครั้งที่ผ่านมา สื่อมวลชนมักถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและการทำหน้าที่อยู่เสมอ ๆ แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ สื่อมวลชนยังคงเป็นตัวกลางในการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้คนในสังคม หรือการอยู่กึ่งกลางระหว่างประชาชนกับฐานอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนยังมีความสำคัญยิ่ง
ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นปริมาณข้อมูลข่าวที่เกิดขึ้นและไหลเวียนในแต่ละวันมีจำนวนมากมายและหลากหลาย มีทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก ในขณะที่สื่อหลักอย่างสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ยังต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค ไม่นับรวมสื่อสังคมออนไลน์ สื่อบุคคล เรียกได้ว่า ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสารได้ทั้งสิ้น แต่ถึงที่สุดแล้ว สื่อมวลชนก็ยังมีความสำคัญถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร บนพื้นฐานและหลักการที่ว่า สื่อมวลชนมีสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของสังคม นี่เป็นจุดที่ทำให้สื่อมวลชนแตกต่างจากสื่อบุคคลอื่น ๆ
นับเป็นโอกาสอันดี การที่องค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนของไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ และนำไปสู่การเพิ่มพูนทักษะความสามารถให้กับบุคลากรในวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการคิดและวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่ต้องมีการเพาะบ่มปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งให้มีความตระหนักรู้และยึดหลักของธรรมาภิบาลเป็นสำคัญในขณะเดียวกันยังเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างกับสื่อมวลชน
สถาบันอิศรา ในฐานะที่รับผิดชอบในการจัดทำโครงการฝึกอบรมระยะยาวให้กับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อทางด้านโทรทัศน์ดิจิทัลที่เห็นชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การปรับและขยายตัวของสื่อโทรทัศน์ทำให้มีจำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้น แต่การผลิตหรือการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจสื่อที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วยังไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรม จึงก่อให้เกิดการไหลเวียนของบุคลากรในวิชาชีพสื่อทางด้านสิ่งพิมพ์และวิทยุที่ผันตัวเองเข้ามาทำงานด้านโทรทัศน์แทน ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษายังขาดประสบการณ์ในการทำงาน แต่ต้องทำหน้าที่ท่ามกลางสภาวการณ์แข่งขันที่ทวีความรุนแรงของสื่อโทรทัศน์ จึงเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคนี้ ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันอิศราจึงเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำโครงการเพื่อเพิ่มทักษะการทำงานให้กับบุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะโครงการอบรมหลักสูตระยะยาวที่เปิดโอกาสให้กับนักวิชาชีพสื่อที่มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและส่วนราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างกันร่วมกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นอีกช่องทางในการเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น การพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแนวคิด สร้างทัศนคติ ค่านิยมและพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถนำไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาชีพของตนเองและประเทศชาติต่อไปได้
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9 บรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างผู้เข้ารับการอบรม ในหัวข้อทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล สิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
3. เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการบริหารสำหรับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสื่อและผู้เกี่ยวข้อง
4. เพื่อให้ตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ
5. เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับนักวิชาการและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9 ในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้บริหารระดับสูงจากสื่อมวลชน วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่เป็นผู้บริหารองค์กร ตั้งแต่ระดับหัวหน้าแผนกข่าวขึ้นไป และที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 30 คน
2. นักวิชาการ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน เป็นผู้บริหาร หรือเคยเป็นผู้บริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาหรือเทียบเท่าขึ้นไป มีอายุการทำงานทางวิชาการ ไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 5 คน
3. ผู้บริหารองค์กรระดับสูงองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งแต่ระดับผู้จัดการ และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 5 คน
4. ผู้บริหารระดับสูงองค์กรของรัฐ ส่วนราชการ ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่าย และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 5 คน
5. ผู้บริหารองค์กรเอกชน ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ หรือ ผู้จัดการ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 10 คน
6. ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร
จำนวนผู้เข้าอบรม
รวมทั้งสิ้น 55 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้เข้าอบรมที่มีความเหมาะสม ทำให้ผู้เข้าอบรมทั้งหมดสามารถจดจำกันได้อย่างทั่วถึง และสะดวกในการจัดทำกิจกรรมกลุ่มในระหว่างการอบรมด้วย ส่วนการกำหนดสัดส่วนผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มวิชาชีพสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
ค่าใช้จ่ายในการอบรม
ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
วิธีดำเนินการอบรม
การอบรมหลักสูตรนี้มีวิธีการศึกษาดังนี้
1. การบรรยายและอภิปราย เป็นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามเนื้อหาวิชาและหัวข้อที่กำหนด โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจากหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในหลักสูตรการอบรมยังได้กำหนดให้มีการเปิดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นระหว่างกัน
2. การสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้กำหนดหัวข้อหรือประเด็นที่สนใจหรือเป็นข้อถกเถียงของสังคม เป็นการจัดเวทีเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน และนำเสนอความคิดเห็นสู่สาธารณะ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน และการจัดสัมมนาสาธารณะซึ่งเป็นผลงานของผู้เข้าอบรม โดยเปิดโอกาสให้เชิญบุคคลภายนอก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การเสนอทางออกแนวทางการแก้ไข หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
2.1. ผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำสัมมนาทั้ง 2 ส่วน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมในหลักสูตรนี้
2.2. มีการแบ่งผู้เข้าอบรม ออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบในการจัดสัมมนาหรือเสวนา เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
2.3. ผู้เข้าอบรมหลักสูตร ในหลักสูตรนี้ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการจัดสัมมนาสาธารณะ 1 หัวข้อ โดยกำหนดหัวข้อสัมมนา การเชิญวิทยากรและการจัดเตรียมงานทั้งหมด
3. การจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ ดังนั้นผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคล โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร ก่อนสิ้นสุดการอบรม
4. การศึกษาดูงาน แบ่งเป็นการศึกษาดูงานในองค์กรด้านสื่อหรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับสื่อภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนด้วย เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ ตลอดจนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาดูงานในส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ 1 ครั้ง (ภายใน 1 วัน) และการศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค 2 ครั้ง (2 วัน และ 3 วัน) ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาดูงานอย่างเหมาะสม
ระยะเวลาและขอบเขตของการอบรม
การอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9 ในครั้งนี้ กำหนดระยะเวลาในการอบรมรวม 6 เดือน หรือประมาณ 24 สัปดาห์ การอบรมจัดขึ้นทุกวันเสาร์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2562 – วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ระยะเวลาอบรมรวม 141 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ภาค ดังนี้
1. ภาควิชาการ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการอบรมในชั้นเรียนทุกวันเสาร์ ซึ่งการอบรมจะเป็นรูปแบบของการบรรยาย การอภิปรายและการสัมมนา โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้ารับการอบรมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ตามหัวข้อที่กำหนด ประกอบด้วย
1.1. การบรรยายและอภิปราย 69 ชั่วโมง
1.2. การสัมมนา 18 ชั่วโมง
การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน 15 ชั่วโมง
การสัมมนาสาธารณะ 3 ชั่วโมง
1.3. การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและชี้แจงการทำรายงาน 18 ชั่วโมง
1.4. การศึกษาดูงาน 3 ครั้ง 36 ชั่วโมง
ส่วนกลาง (1 ครั้ง) 6 ชั่วโมง
ส่วนภูมิภาค (2 ครั้ง) 30 ชั่วโมง
ภาพรวมการแบ่งสัดส่วนแต่ละกลุ่มของการอบรมในหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย การบรรยายและอภิปราย คิดเป็นร้อยละ 48.94 การสัมมนาและการจัดสัมมนาสาธารณะ ร้อยละ 12.76 การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและการชี้แจงการทำรายงาน ร้อยละ 12.76 การศึกษาดูงาน ร้อยละ 25.54
2. ภาคการจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำรายงานเฉพาะบุคคลเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและคณะกรรมการหลักสูตร ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
1. การนำเสนอหัวข้อและเค้าโครง
2. การปรึกษาคณะกรรมการหลักสูตร
3. การนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมอบรม คนละ 10 นาที โดยมีคณะกรรมการหลักสูตรร่วมวิพากษ์และผู้เข้าอบรมร่วมเสนอแนะ ก่อนการจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลฉบับสมบูรณ์
เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม
ในการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 9 กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการอบรมไว้ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีเวลาเข้าฟังและเสนอความคิดเห็นในห้องเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. มีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดหลักสูตร และต้องเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาดูงาน การจัดสัมมนากลุ่มย่อยและการจัดสัมมนาสาธารณะ
3. จัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลและส่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร
4. จัดทำรายงานและนำเสนอผลงานหรืองานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนดเวลา และจะต้องส่งฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการหลักสูตรในการพิจารณาจบหลักสูตร
องค์ประกอบของหลักสูตร
แบ่งออกได้เป็น 6 หมวดวิชา จำนวน 69 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1. การเมืองและเศรษฐกิจโลก จำนวน 12 ชั่วโมง
2. เศรษฐศาสตร์และทิศทางเศรษฐกิจ จำนวน 12 ชั่วโมง
3. สังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน จำนวน 12 ชั่วโมง
4. หลักการบริหารและเทคโนโลยีการสื่อสาร จำนวน 15 ชั่วโมง
5. กฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชน เสรีภาพและจริยธรรมวิชาชีพ จำนวน 12 ชั่วโมง
6. วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 6 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 1 ว่าด้วยการเมืองและเศรษฐกิจโลก จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1.1. ภูมิรัฐศาสตร์และดุลอำนาจการเมืองโลก จำนวน 3 ชั่วโมง
1.2. สงคราม (การค้า) เศรษฐกิจโลก จำนวน 3 ชั่วโมง
1.3. โลกธุรกิจใหม่แห่งอนาคต จำนวน 3 ชั่วโมง
1.4. กับดักระบบการศึกษา (ไทย) จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 2 ว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ ประเทศไทย จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
2.1. ดุลอำนาจในการเมืองไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.2. วิกฤติรัฐธรรมนูญไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.3. อนาคตเศรษฐกิจไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.4. อนาคตการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 3 ว่าด้วยสังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
3.1. มุมมองใหม่กับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
3.2. ทิศทางสวัสดิการสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
3.3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 3 ชั่วโมง
3.4. ทิศทาง แนวโน้ม ปัญหาสิทธิมนุษยชน จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 4 ว่าด้วยการบริหารและเทคโนโลยีการสื่อสารจำนวน 15 ชั่วโมง ประกอบด้วย
4.1. การบริหารธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อความยั่งยืน จำนวน 3 ชั่วโมง
4.2. สตาร์ทอัพ (Startup) เปลี่ยนโลกธุรกิจ จำนวน 3 ชั่วโมง
4.3. Media Business Model เพื่อความอยู่รอด จำนวน 3 ชั่วโมง
4.4. การบริหาร : ภาวะผู้นำ จำนวน 3 ชั่วโมง
4.5. อนาคตเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับผลกระทบสื่อ จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 5 ว่าด้วยกฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชน เสรีภาพกับความรับผิดชอบของสื่อ จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
5.1. สถานการณ์สื่อโลก อาเซียนในเวทีไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
5.2. ข่าวปลอม ข่าวลวง (Fake news) จริยธรรมสื่อยุคใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
5.3. ระบบการกำกับดูแลในภูมิทัศน์สื่อใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
5.4. สื่อในโลกดิจิทัล : มิติด้านการเมืองและวัฒนธรรม จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 6 ว่าด้วยประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 6 ชั่วโมง ประกอบด้วย
6.1. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 1 จำนวน 3 ชั่วโมง
6.2. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 2 จำนวน 3 ชั่วโมง
กำหนดการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9
ระยะเวลาการอบรม 6 เดือน หรือประมาณ 24 สัปดาห์ (141 ชั่วโมง)
ระหว่างวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2562 – วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563
สัปดาห์ที่ 1 วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2562 |
|
การปฐมนิเทศ ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 9 ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ |
|
สัปดาห์ที่ 2 วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2562 |
|
การสัมมนาเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอบรม (บสส.) รุ่นที่ 9 ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
|
สัปดาห์ที่ 3 วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562 |
|
(หัวข้อที่ 1) |
สงคราม (การค้า) เศรษฐกิจโลก โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
(หัวข้อที่ 2) |
ดุลอำนาจในการเมืองไทย โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สัปดาห์ที่ 4 วันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2562 |
|
(หัวข้อที่ 3) |
โลกธุรกิจใหม่แห่งอนาคต โดย ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist จาก SEA (บริษัทแม่การีนา ช้อปปี้ แอร์เพย์) |
(หัวข้อที่ 4) |
ภูมิรัฐศาสตร์และดุลอำนาจการเมืองโลก โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สัปดาห์ที่ 5 วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2562 |
|
(หัวข้อที่ 5) |
วิกฤติรัฐธรรมนูญไทย โดย ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศูนย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
ชี้แจงการจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลและบทความเชิงวิชาการ โดย รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ต.ท.ดร.วัชรพงษ์ พนิตธำรง อาจารย์ (สบ 3) กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้จัดการหลักสูตร |
|
สัปดาห์ที่ 6 วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 |
|
(หัวข้อที่ 6) |
อนาคตเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับผลกระทบสื่อ โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) |
(หัวข้อที่ 7) |
ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 1 |
สัปดาห์ที่ 7 วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2562 |
|
ศึกษาดูงานส่วนกลาง |
|
สัปดาห์ที่ 8 วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 8) |
อนาคตการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 1 |
|
วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2562 |
|
งดบรรยาย หยุดต่อเนื่องวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร |
|
สัปดาห์ที่ 9 วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 9) |
ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 2 |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 2 |
|
สัปดาห์ที่ 10 วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 10) |
มุมมองใหม่กับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 3 |
|
สัปดาห์ที่ 11 วันศุกร์ที่ 1 – วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2562 |
|
ศึกษาดูงานส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 1 |
|
สัปดาห์ที่ 12 วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2562 |
|
(หัวข้อที่ 11) |
ทิศทางสวัสดิการสังคมไทย โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 4 |
|
สัปดาห์ที่ 13 วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2562 |
|
(หัวข้อที่ 12) |
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 5 |
|
สัปดาห์ที่ 14 วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2562 |
|
(หัวข้อที่ 13) |
ทิศทาง แนวโน้ม ปัญหาสิทธิมนุษยชน โดย ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวนิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล |
(หัวข้อที่ 14) |
สตาร์ทอัพ (Startup) เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย นายภาวุธ พงษ์วิทยาภาณุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซด์ตลาดดอทคอม และเว็บไซต์ E-Marketplace |
สัปดาห์ที่ 15 วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน – วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2562 |
|
ศึกษาดูงานส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 2 |
|
สัปดาห์ที่ 16 วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 15) |
การบริหารธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อความยั่งยืน โดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) |
การบริหารธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อความยั่งยืน โดย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) |
|
(หัวข้อที่ 16) |
Media Business Model เพื่อความอยู่รอด โดย นายธนศักดิ์ หุ่นอารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) นางสาวจิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาด บริษัท เทรนด์ วีจี3 จำกัด (ไทยรัฐออนไลน์) |
สัปดาห์ที่ 17 วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 17) |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (1) |
อนาคตเศรษฐกิจไทย โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย |
|
สัปดาห์ที่ 18 วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 18) |
ระบบการกำกับดูแลในภูมิทัศน์สื่อใหม่ โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (2) |
|
วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2562 |
|
งดบรรยาย หยุดต่อเนื่องวันสิ้นปี |
|
สัปดาห์ที่ 19 วันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2563 |
|
(หัวข้อที่ 19) |
การบริหาร : ภาวะผู้นำ โดย นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (3) |
|
สัปดาห์ที่ 20 วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 |
|
(หัวข้อที่ 20) |
สถานการณ์สื่อโลก อาเซียนในเวทีไทย โดย นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอิสระ |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (4) |
|
สัปดาห์ที่ 21 วันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563 |
|
(หัวข้อที่ 21) |
ข่าวปลอม ข่าวลวง (Fake news) จริยธรรมสื่อยุคใหม่ โดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (5) |
|
สัปดาห์ที่ 22 วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 |
|
(หัวข้อที่ 22) |
กับดักระบบการศึกษา (ไทย) โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) |
(หัวข้อที่ 23) |
สื่อในโลกดิจิทัล : มิติด้านการเมืองและวัฒนธรรม โดย ผศ.ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำ สถาบันภาษาไทยสิรินทร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริษัทดิ วันโอวัน เปอร์เซ็นต์ จำกัด |
สัปดาห์ที่ 23 วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 |
|
|
การจัดสัมมนาสาธารณะ |
วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 |
|
งดบรรยาย หยุดต่อเนื่องวันมาฆบูชา |
|
สัปดาห์ที่ 24 วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 |
|
การสัมมนาปิดการอบรม |
หมายเหตุ
กำหนดการฝึกอบรมที่ได้กำหนดรายชื่อวิทยากรไว้แล้วนั้น เป็นการติดต่อประสานงานล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดการจริง อาจมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากรหรือเปลี่ยนเวลาในการบรรยายได้ ในกรณีที่วิทยากรติดภารกิจด่วน ซึ่งการเชิญวิทยากรท่านอื่นมาทดแทน ทางสถาบันอิศราฯ จะเชิญวิทยากรที่มีคุณสมบัติและคุณวุฒิที่ใกล้เคียงกับวิทยากรท่านเดิม