- Home
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.)
- หลักการและเหตุผล
- หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8
หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8
หลักการและเหตุผล
ในสภาวการณ์ที่ประเทศชาติกำลังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและมีความเห็นที่แตกต่างจนนำไปสู่ความแตกแยกของผู้คนในสังคม สื่อมวลชนเป็นความหวังหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมไปถึงการช่วยบรรเทาเยียวยาเพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคมได้ แม้ว่าหลายครั้งที่ผ่านมาสื่อมวลชนก็อาจถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและการทำหน้าที่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สื่อมวลชนยังคงเป็นตัวกลางในการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้คนในสังคม ต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างประชาชนกับฐานอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม บทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงถือว่ามีความสำคัญยิ่ง
ในยุคของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ทำให้ปริมาณข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีจำนวนมาก ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกต่าง ๆ แม้แต่สื่อหลักอย่างสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ก็มีหลากหลายทางเลือกให้กับผู้บริโภค ยังไม่รวมสื่อสังคมออนไลน์ สื่อบุคคลเรียกได้ว่า ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสารได้ทั้งสิ้น แต่ถึงที่สุดแล้ว สื่อมวลชนต้องมีบทบาทหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงมีความสำคัญ แม้ว่าสื่อมวลชนจะมีสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือ และการยอมรับจากสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สื่อมวลชนแตกต่างจากสื่อบุคคลอื่น
นับเป็นโอกาสอันดี การที่องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนของไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้าง เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และนำไปสู่การเพิ่มพูนทักษะความสามารถให้กับบุคลากรในวิชาชีพ ด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบและการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างธรรมาภิบาล ให้เกิดขึ้นและพัฒนาศักยภาพของสื่อในภาคประชาชน ตลอดจนการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมกับสื่อมวลชน
สถาบันอิศราซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำโครงการฝึกอบรมระยะยาว สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อทางด้านโทรทัศน์ดิจิทัล เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการปรับและขยายตัวของสื่อโทรทัศน์ทำให้มีจำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การผลิตหรือการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจสื่อที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วยังไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการไหลเวียนของบุคลากรในวิชาชีพสื่อทางด้านสิ่งพิมพ์และวิทยุเข้ามาทำงานด้านโทรทัศน์แทน ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาและยังขาดประสบการณ์ แต่ต้องตกอยู่ท่ามกลางสภาวการณ์แข่งขันที่ทวีความรุนแรงของสื่อโทรทัศน์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคนี้ ด้วยเหตุนี้ ทำให้สถาบันอิศราได้ตระหนักถึงบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยที่จะเป็นกระจกเงาสะท้อนความเป็นไปของสังคม คอยนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะให้กับบุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การจัดโครงการอบรมหลักสูตระยะยาว เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้บริหารระดับสูง ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและส่วนราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ภายใต้หลักสูตรที่ชื่อว่า หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารจากองค์กรด้านสื่อสารมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างกันร่วมกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแนวคิด สร้างทัศนคติ ค่านิยมและพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาชีพของตนเองและประเทศชาติต่อไปได้
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 บรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างผู้เข้ารับการอบรม ในหัวข้อทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล สิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
3. เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการบริหารสำหรับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสื่อและผู้เกี่ยวข้อง
4. เพื่อให้ตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ
5. เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับนักวิชาการและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 ในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้บริหารระดับสูงจากสื่อมวลชน วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่เป็นผู้บริหารองค์กร ตั้งแต่ระดับหัวหน้าแผนกข่าวขึ้นไป และที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 30 คน
2. นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เป็นผู้บริหารหรือเคยเป็นผู้บริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาหรือเทียบเท่าขึ้นไป มีอายุการทำงานทางวิชาการ ไม่น้อยกว่า 15 ปี และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 5 คน
3. ผู้บริหารองค์กรระดับสูงองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งแต่ระดับผู้จัดการ และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 5 คน
4. ผู้บริหารระดับสูงองค์กรของรัฐ ส่วนราชการ ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่าย และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 5 คน
5. ผู้บริหารองค์กรเอกชน ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ หรือ ผู้จัดการ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 10 คน
6. ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร
จำนวนผู้เข้าอบรม
รวมทั้งสิ้น 55 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้เข้าอบรมที่มีความเหมาะสม ทำให้ผู้เข้าอบรมทั้งหมดสามารถจดจำกันได้อย่างทั่วถึง และสะดวกในการจัดทำกิจกรรมกลุ่มในระหว่างการอบรมด้วย ส่วนการกำหนดสัดส่วนผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มวิชาชีพสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
ค่าใช้จ่ายในการอบรม
ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
วิธีดำเนินการอบรม
การอบรมหลักสูตรนี้มีวิธีการศึกษาดังนี้
1. การบรรยายและอภิปราย เป็นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามเนื้อหาวิชาและหัวข้อที่กำหนด โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจากหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในหลักสูตรการอบรมยังได้กำหนดให้มีการเปิดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นระหว่างกัน
2. การสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้กำหนดหัวข้อหรือประเด็นที่สนใจหรือเป็นข้อถกเถียงของสังคม เป็นการจัดเวทีเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน และนำเสนอความคิดเห็นสู่สาธารณะ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน และการจัดสัมมนาสาธารณะซึ่งเป็นผลงานของผู้เข้าอบรม โดยเปิดโอกาสให้เชิญบุคคลภายนอก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การเสนอทางออก แนวทางการแก้ไข หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
2.1. ผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำสัมมนาทั้ง 2 ส่วน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมในหลักสูตรนี้
2.2. มีการแบ่งผู้เข้าอบรม ออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบในการจัดสัมมนาหรือเสวนา เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
2.3. ผู้เข้าอบรมหลักสูตร ในหลักสูตรนี้ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการจัดสัมมนาสาธารณะ 1 หัวข้อ โดยกำหนดหัวข้อสัมมนา การเชิญวิทยากรและการจัดเตรียมงานทั้งหมด
3. การจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ ดังนั้นผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคล โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และจะต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักสูตร ก่อนสิ้นสุดการอบรม
4. การศึกษาดูงาน แบ่งเป็นการศึกษาดูงานในองค์กรด้านสื่อ หรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ ตลอดจนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาดูงานในส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ 1 ครั้ง (ภายใน 1 วัน) และการศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค 2 ครั้ง ( 2 วัน และ 3 วัน ) ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาดูงานอย่างเหมาะสม
ระยะเวลาและขอบเขตของการอบรม
การอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รุ่นที่ 8 ในครั้งนี้ กำหนดระยะเวลาในการอบรมแต่ละรุ่นนาน 6 เดือน หรือประมาณ 24 สัปดาห์ การอบรมจัดขึ้นทุกวันเสาร์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 – วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ระยะเวลาอบรมรวม 141 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ภาค ดังนี้
1. ภาควิชาการ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการอบรมในชั้นเรียนทุกวันเสาร์ ซึ่งการอบรมจะเป็นรูปแบบของการบรรยาย การอภิปรายและการสัมมนา โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้ารับการอบรมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ตามหัวข้อที่กำหนด ประกอบด้วย
1.1. การบรรยายและอภิปราย 69 ชั่วโมง
1.2. การสัมมนา 18 ชั่วโมง
การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน 15 ชั่วโมง
การจัดสัมมนาสาธารณะ 3 ชั่วโมง
1.3. การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและชี้แจงการทำรายงาน 18 ชั่วโมง
1.4. การศึกษาดูงาน 36 ชั่วโมง
ส่วนกลาง 6 ชั่วโมง
ส่วนภูมิภาค 30 ชั่วโมง
ภาพรวมการแบ่งสัดส่วนแต่ละกลุ่มของการอบรมในหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย การบรรยายและอภิปราย คิดเป็นร้อยละ 48.94 การสัมมนาและการจัดสัมมนาสาธารณะ ร้อยละ 12.76 การนำเสนอรายงานเฉพาะบุคคลและการชี้แจงการทำรายงาน ร้อยละ 12.76 การศึกษาดูงาน ร้อยละ 25.54
2. ภาคการจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำรายงานเฉพาะบุคคลเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและคณะกรรมการหลักสูตร ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
2.1 การนำเสนอหัวข้อและเค้าโครง
2.2 การปรึกษาคณะกรรมการหลักสูตร
2.3 การนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมอบรม คนละ 10 นาที โดยมีคณะกรรมการหลักสูตรร่วมวิพากษ์และผู้เข้าอบรมร่วมเสนอแนะ ก่อนการจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลฉบับสมบูรณ์
เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม
ในการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 ได้กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการอบรมไว้ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีเวลาเข้าฟังและเสนอความคิดเห็นในห้องเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. มีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดหลักสูตร และต้องเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาดูงาน การจัดสัมมนากลุ่มย่อยและการจัดสัมมนาสาธารณะ
3. จัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคลและส่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร
4. จัดทำรายงานและนำเสนอผลงานหรืองานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนดเวลา และจะต้องส่งฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการหลักสูตรในการพิจารณาจบหลักสูตร
องค์ประกอบของหลักสูตร แบ่งออกได้เป็น 5 หมวดวิชา จำนวน 69 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1. การเมืองเศรษฐกิจโลก จำนวน 12 ชั่วโมง
2. การเมือง เศรษฐกิจ สังคมประเทศไทย จำนวน 24 ชั่วโมง
3. หลักการบริหารและเทคโนโลยีการสื่อสาร จำนวน 18 ชั่วโมง
4. กฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชน เสรีภาพกับความรับผิดชอบของสื่อ จำนวน 9 ชั่วโมง
5. วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 6 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 1 ว่าด้วยการเมืองเศรษฐกิจโลกที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1.1. ภูมิศาสตร์และดุลอำนาจการเมืองโลก จำนวน 3 ชั่วโมง
1.2. สงครามการค้า...เศรษฐกิจโลก จำนวน 3 ชั่วโมง
1.3. เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงโลกกับผลกระทบทางธุรกิจ จำนวน 3 ชั่วโมง
1.4. การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 2 ว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ สังคมประเทศไทย จำนวน 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย
2.1. ดุลอำนาจในการเมืองไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.2. รัฐธรรมนูญไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ปฏิรูปตำรวจ) จำนวน 3 ชั่วโมง
2.4. อนาคตเศรษฐกิจไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.5. อนาคตประเทศไทย : ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำนวน 3 ชั่วโมง
2.6. มุมมองใหม่กับปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.7. ระบบหลักประกันสุขภาพ จำนวน 3 ชั่วโมง
2.8. ทิศทาง แนวโน้ม ปัญหาสิทธิมนุษยชน จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 3 ว่าด้วยการบริหารและเทคโนโลยีการสื่อสารจำนวน 18 ชั่วโมง ประกอบด้วย
3.1. การบริหารธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อความยั่งยืน จำนวน 3 ชั่วโมง
3.2. สตาร์ทอัฟ (Startup) เปลี่ยนโลกธุรกิจ จำนวน 3 ชั่วโมง
3.3. Media Business Model จำนวน 3 ชั่วโมง
3.4. การบริหารเชิงกลยุทธ์ : ภาวะผู้นำ จำนวน 3 ชั่วโมง
3.5. ความอยู่รอดของธุรกิจสื่อ จำนวน 3 ชั่วโมง
3.6. อนาคตเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับผลกระทบสื่อ จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 4 ว่าด้วย กฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชน เสรีภาพกับความรับผิดชอบของสื่อ จำนวน 9 ชั่วโมง ประกอบด้วย
4.1. สถานการณ์สื่อโลก อาเซียนและไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
4.2. ความรับผิดชอบกับการรู้เท่าทันสื่อ จำนวน 3 ชั่วโมง
4.3. ความมั่นคงไซเบอร์กับการอภิบาลอินเทอร์เน็ต จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 5 ว่าด้วยประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 6 ชั่วโมง ประกอบด้วย
5.1. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 1 จำนวน 3 ชั่วโมง
5.2. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 2 จำนวน 3 ชั่วโมง
กำหนดการหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8
ระยะเวลาการอบรม 6 เดือน หรือ 24 สัปดาห์ (141 ชั่วโมง)
ระหว่างวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 – วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562
สัปดาห์ที่ 1 วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 |
|
การปฐมนิเทศ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ |
|
สัปดาห์ที่ 2 วันเสาร์ที่ 25 – วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2561 |
|
การสัมมนาเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอบรม ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
|
สัปดาห์ที่ 3 วันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 1) |
รัฐธรรมนูญไทย โดย ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
(หัวข้อที่ 2) |
ดุลอำนาจในการเมืองไทย โดย ศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สัปดาห์ที่ 4 วันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 3) |
การศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) |
(หัวข้อที่ 4) |
ภูมิศาสตร์และดุลอำนาจการเมืองโลก โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สัปดาห์ที่ 5 วันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 5) |
สงครามการค้า...เศรษฐกิจโลก โดย นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ จำกัด |
ชี้แจงการจัดทำเอกสารรายงานเฉพาะบุคคล โดย คณะกรรมการที่ปรึกษารายงานเฉพาะบุคคล |
|
การจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล เข้าใจหลักการวิจัยเบื้องต้น โดย คณะกรรมการที่ปรึกษารายงานเฉพาะบุคคล
|
|
สัปดาห์ที่ 6 วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 6) |
เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงโลกกับผลกระทบทางธุรกิจ โดย นายธีรนันทน์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท CELAR CONSULTING ที่ปรึกษาในการวางยุทธศาสตร์องค์กร |
(หัวข้อที่ 7) |
ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ปฏิรูปตำรวจ) โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี |
สัปดาห์ที่ 7 วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2561 |
|
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 2 “คนเสพสื่อ ส่งเสริม หรือ ทำลาย จริยธรรมสื่อ?” โดย นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 8 กลุ่มที่ 2 |
|
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 1 "จริยธรรมสื่อมวลชนในการรายงานข่าวอ่อนไหว" โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 8 กลุ่มที่ 1 |
|
สัปดาห์ที่ 8 วันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561 |
|
ศึกษาดูงานส่วนกลาง ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) |
|
สัปดาห์ที่ 9 วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 8) |
ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 1 “ระบบการเลือกตั้งใหม่กับทิศทางการเมืองไทย” โดย รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตที่ปรึกษายกร่างรัฐธรรมนูญ |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 3 “สื่อมวลชน 2018 วิ่ง...ไล่.....แซง สื่อออนไลน์” โดย ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล Program director บริษัท PCCW OTT ประเทศไทย จำกัด ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 8 กลุ่มที่ 3 |
|
สัปดาห์ที่ 10 วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 9) |
อนาคตประเทศไทย : ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย นายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการ ธนาคารเกียรตินาคิน |
(หัวข้อที่ 10) |
อนาคตเศรษฐกิจไทย โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) |
วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2561 |
|
งดบรรยาย หยุดต่อเนื่องวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร |
|
สัปดาห์ที่ 11 วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 11) |
มุมมองใหม่กับปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทย โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 4 “Disruptive Technology สื่อไทยเอาอยู่ไหม” โดย นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา หัวหน้าข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และสื่อออนไลน์ ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 8 กลุ่มที่ 4 |
|
สัปดาห์ที่ 12 วันศุกร์ที่ 26 – วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2561 |
|
ศึกษาดูงานส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 1 จังหวัดชลบุรี – จังหวัดระยอง |
|
สัปดาห์ที่ 13 วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 12) |
ระบบหลักประกันสุขภาพ โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) |
สัมมนาวิชาการกลุ่มที่ 5 “Online Media กำกับอย่างไรให้เสรี” โดย ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 8 กลุ่มที่ 5 |
|
สัปดาห์ที่ 14 วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 13) |
ทิศทาง แนวโน้ม ปัญหาสิทธิมนุษยชน โดย นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ของฮิวแมนไรท์วอทช์ |
(หัวข้อที่ 14) |
การบริหารธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อความยั่งยืน โดย นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ |
สัปดาห์ที่ 15 วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2561 |
|
(หัวข้อที่ 15) |
สตาร์ทอัฟ (Startup) เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย นายชัชนาท จรัญวัฒนากิจ Co-Founder and Chief Marketing Officer, Seekster และอุปนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association |
(หัวข้อที่ 16) |
Media Business Model โดย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ Workpoint News
|
สัปดาห์ที่ 16 วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน – วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 |
|
ศึกษาดูงานส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงราย – จังหวัดเชียงใหม่ |
|
สัปดาห์ที่ 17 วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 17) |
ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 2 “การยื่น – เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ ใครได้ใครเสีย ?” โดย นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (1) |
|
สัปดาห์ที่ 18 วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 18) |
การบริหารเชิงกลยุทธ์ : ภาวะผู้นำ โดย นายภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเพิล คอนเน็ค จำกัด |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (2) |
|
สัปดาห์ที่ 19 วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 19) |
ความอยู่รอดของธุรกิจสื่อ โดย นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอิสระ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (3) |
|
สัปดาห์ที่ 20 วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2561 |
|
(หัวข้อที่ 20) |
อนาคตเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับผลกระทบสื่อ โดย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (4) |
|
วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2561 |
|
งดบรรยาย หยุดต่อเนื่องวันปีใหม่ |
|
สัปดาห์ที่ 21 วันเสาร์ที่ 5 มกราคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 21) |
สถานการณ์สื่อโลก อาเซียนและไทย โดย นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอิสระ |
นำเสนอผลงานรายงานเฉพาะบุคคล (5) |
|
สัปดาห์ที่ 22 วันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2562 |
|
(หัวข้อที่ 22) |
ความรับผิดชอบกับการรู้เท่าทันสื่อ โดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้จัดทำเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา (หมอมินบานเย็น) นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน นางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ คณะกรรมการนโยบาย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส |
(หัวข้อที่ 23) |
ความมั่นคงไซเบอร์กับการอภิบาลอินเทอร์เน็ต โดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ยรรยง เต็งอำนวย อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สัปดาห์ที่ 23 วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 |
|
การจัดสัมมนาสาธารณะ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บมจ. อสมท โดย ผู้เข้าอบรมหลักสูตร (บสส.) รุ่นที่ 8 |
|
สัปดาห์ที่ 24 วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 |
|
การสัมมนาปิดการอบรม ณ โรงแรมเคปราชา ศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
หมายเหตุ
กำหนดการฝึกอบรมที่ได้กำหนดรายชื่อวิทยากรไว้แล้วนั้น เป็นการติดต่อประสานงานล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดการจริง อาจมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากรหรือเปลี่ยนเวลาในการบรรยายได้ ในกรณีที่วิทยากรติดภารกิจด่วน ซึ่งการเชิญวิทยากรท่านอื่นมาทดแทน ทางสถาบันอิศราฯ จะเชิญวิทยากรที่มีคุณสมบัติและคุณวุฒิที่ใกล้เคียงกับวิทยากรท่านเดิม