- Home
- หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.)
- หลักการและเหตุผล
- หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3
หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3
หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3
ผู้นำหรือผู้บริหารยุคใหม่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น ในขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือประสบความสำเร็จใจในช่วงอายุที่ไม่มาก อาจทำให้เกิดช่องว่างในการบริหารจัดการภายในองค์กรได้ เพราะผู้นำรุ่นใหม่หรือกลุ่มวันรุ่นหนุ่มสาวเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่กล้าคิดกล้าเสี่ยงและพร้อมลุยทุกรูปแบบ การพิสูจน์ความสามารถที่วัดกันที่ฝีมือไม่ใช่วัดกันที่อายุหรือประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานกว่า ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงได้เตรียมความพร้อมของตนเอง การเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ ภาคเอกชน การแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นช่องทางการเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ การจัดทำโครงงานจึงเป็นการเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นเพื่อนำเสนอโครงงานที่จะช่วยพัฒนาต่อยอดหรือเสริมทักษะการบริหารจัดการและนำมาประยุกต์ปรับใช้ได้จริง ช่วยให้ผู้บริหารที่เข้ารับการอบรมมีวิสัยทัศน์แนวคิดที่ทันสมัย สามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปในทุกวันนี้
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 บรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างผู้เข้ารับการอบรม ในหัวข้อทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล สิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
3. เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสื่อและผู้เกี่ยวข้องระดมความเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงสร้าง การบริหารจัดการ รูปแบบและการกำกับดูแลกันเองที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของสื่อมวลชนในอนาคต
4. เพื่อให้ตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
5. เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับนักวิชาการและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้บริหารระดับสูงจากสื่อมวลชน วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่เป็นผู้บริหารองค์กร ตั้งแต่ระดับบรรณาธิการข่าวขึ้นไป และที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป 24 คน
2. นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ตั้งแต่ระดับคณบดีหรือหัวหน้าภาควิชา มีอายุการทำงานทางวิชาการ ไม่น้อยกว่า 15 ปี และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป 4 คน
3. ผู้บริหารองค์กรระดับสูงองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งแต่ระดับผู้จัดการ และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป 2 คน
4. ผู้บริหารระดับสูงองค์กรของรัฐ ส่วนราชการ ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่าย และมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป 4 คน
5. ผู้บริหารองค์กรเอกชน ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป 16 คน
6. ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร
7. ผู้เข้ารับการอบรมต้องเคยสำเร็จการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงฯ ที่จัดโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มาก่อน หรือผู้บริหารระดับสูงสุดในสายงานด้านสื่อสารมวลชนในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จำนวนผู้เข้าอบรม
ผู้เข้าอบรมรวม 50 คน เป็นจำนวนผู้เข้าอบรมที่มีความเหมาะสม และสะดวกในการจัดทำกิจกรรมกลุ่มระหว่าง การอบรมด้วย การกำหนดสัดส่วนผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มวิชาชีพสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
หมายเหตุ การคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมของมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เน้นเรื่องความหลากหลายของผู้เข้าร่วมการอบรมจากสื่อต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้สื่อมวลชนส่วนใหญ่ต้องปรับกระบวนการทำงาน รายละเอียดของหลักสูตรเน้นการพัฒนาศักยภาพเพื่อการปรับตัวของผู้เข้าอบรมให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่นกัน
ค่าใช้จ่ายในการอบรม
ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
งบประมาณในการดำเนินการอบรม
ประมาณการงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารจัดการหลักสูตรวงเงิน 5 ล้านบาท โดยการระดมทุนจากหน่วยงานภาคเอกชนและแหล่งทุนอื่น ๆ ที่ต้องการสนับสนุนหรือเข้าร่วมโครงการ หากมีผู้สนับสนุนเกินจำนวน ทางสถาบันอิศราฯ จะนำเงินส่วนเกินเข้าสมทบในกองทุนเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการอบรมในอนาคต
วิธีดำเนินการอบรม
การอบรมหลักสูตรนี้มีวิธีการศึกษาดังนี้
1. การบรรยายและอภิปราย เป็นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามเนื้อหาวิชาและหัวข้อที่กำหนด โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจากหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในหลักสูตรการอบรมยังได้กำหนดให้มีการเปิดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นระหว่างกัน
2. การสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้กำหนดหัวข้อหรือประเด็นที่สนใจหรือเป็นข้อถกเถียงของสังคม เป็นการจัดเวทีเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน และนำเสนอความคิดเห็นสู่สาธารณะ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน และการจัดสัมมนาสาธารณะซึ่งเป็นผลงานของผู้เข้าอบรม โดยเปิดโอกาสให้เชิญบุคคลภายนอก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การเสนอทางออก แนวทางการแก้ไข หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
2.1. ผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำสัมมนาทั้ง 2 ส่วน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมในหลักสูตรนี้
2.2. มีการแบ่งผู้เข้าอบรม ออกเป็น 8 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบในการจัดสัมมนาหรือเสวนา เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
2.3. ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรนี้ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการจัดสัมมนาสาธารณะ โดยการพิจารณาคัดเลือก โครงงานกลุ่มจากทั้งหมด 8 โครงงาน เลือกเพียง 1 โครงงาน จากนั้นให้ผู้เข้าอบรมทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่อยอดให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ รอบด้านในทุกมิติ เพื่อนำเสนอในเวทีการจัดสัมมนาสาธารณะในวันสุดท้ายของหลักสูตรการอบรม โดยการดำเนินการจัดเวทีสาธารณะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้เข้าอบรมทุกทั้งรุ่น
3. การจัดทำโครงงานกลุ่ม (8 กลุ่ม) เพื่อสร้างรูปแบบการสื่อสารมวลชนในอนาคต เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ ดังนั้นผู้เข้าอบรมทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงงานกลุ่มและนำเสนอผลงานของแต่ละกลุ่ม โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และจะต้องดำเนินการปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะของที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ในการวิพากษ์ผลงานของแต่ละกลุ่มด้วย
4. การศึกษาดูงาน แบ่งเป็นการศึกษาดูงานองค์กรด้านสื่อหรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เป็นการการดูงานทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนด้วย เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ ตลอดจนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาดูงานในส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ 2 ครั้ง (ครั้งละ 1 วัน) การศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค 2 ครั้ง (2 วัน และ 4 วัน) ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาดูงานอย่างเหมาะสม
ระยะเวลาและขอบเขตของการอบรม
การอบรมหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 ในครั้งนี้ กำหนดระยะเวลาในการอบรมรวม 5 เดือนครึ่ง หรือประมาณ 22 สัปดาห์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 - วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 การอบรมจัดขึ้นทุกวันเสาร์เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ - กรุงเทพฯ ถนนรัชดาภิเษก ระยะเวลาอบรมรวม 138 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ภาค ดังนี้
1. ภาควิชาการ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการอบรมในชั้นเรียนทุกวันเสาร์ ซึ่งการอบรมจะเป็นรูปแบบของการบรรยาย การอภิปรายและการสัมมนา โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้ารับการอบรมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ตามหัวข้อที่กำหนด ประกอบด้วย
1.1. การบรรยายและอภิปราย 36 ชั่วโมง
1.2. การสัมมนา 30 ชั่วโมง
การสัมมนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน 24 ชั่วโมง
การจัดสัมมนาสาธารณะ 3 ชั่วโมง
1.3. การจัดทำโครงงานกลุ่มและนำเสนอโครงงานกลุ่ม 24 ชั่วโมง
1.4. การศึกษาดูงาน 4 ครั้ง 48 ชั่วโมง
ส่วนกลาง (2 ครั้ง) 12 ชั่วโมง
ส่วนภูมิภาค (2 ครั้ง) 36 ชั่วโมง
ภาพรวมการแบ่งสัดส่วนแต่ละกลุ่มของการอบรมในหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย การบรรยายและอภิปราย คิดเป็นร้อยละ 26.09 การสัมมนา ร้อยละ 21.74 การจัดทำโครงงานกลุ่ม ร้อยละ 17.39 การศึกษาดูงาน ร้อยละ 34.78
2. ภาคการจัดทำโครงงานกลุ่ม ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องจัดทำโครงงานกลุ่ม เพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและคณะกรรมการหลักสูตร ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
2.1. การนำเสนอหัวข้อและเค้าโครง
2.2. การปรึกษาคณะกรรมการหลักสูตร
2.3. การนำเสนอผลงานโครงงานกลุ่ม ต่อคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมอบรม กลุ่มละ 45 นาที (นำเสนอ 30 นาที อภิปรายและซักถาม 15 นาที) โดยมีคณะกรรมการหลักสูตรร่วมวิพากษ์และผู้เข้าอบรมร่วมเสนอแนะ ก่อนการจัดทำเอกสารรายงานกลุ่มฉบับสมบูรณ์
หมายเหตุ การจัดทำโครงงานกลุ่ม ในส่วนของหลักสูตร (บยสส.) รุ่นที่ 3 นั้น กำหนดเวลาไว้ 24 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติ ผู้เข้ารับการอบรม อาจมีการนัดหมายการประชุมปรึกษาหารือกันนอกรอบกับที่ปรึกษาการทำรายงานเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เข้ารับการอบรมมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงงานกลุ่ม โดยวิทยากรและผู้บริหารหลักสูตรประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จึงมั่นใจได้ว่าผู้เข้ารับการอบรมจะผ่านกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการทำโครงงานกลุ่มได้อย่างแน่นอน
เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม
การเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร (บยสส.) รุ่นที่ 3 กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการอบรมไว้ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีเวลาเข้าฟังและเสนอความคิดเห็นในห้องเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. มีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดหลักสูตร และต้องเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาดูงานไม่น้อยกว่า 24 คาบ (จากทั้งหมด 48 คาบ) การจัดสัมมนากลุ่มย่อย การจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลงานโครงงานกลุ่ม และการจัดการสัมมนาสาธารณะเพื่อนำเสนอผลงานของรุ่น
3. จัดทำเอกสารโครงงานกลุ่มและส่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร
4. จัดทำโครงงานและนำเสนอผลงานโครงงานกลุ่ม หรืองานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนดเวลา โดยส่งฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการหลักสูตรในการพิจารณาประเมินจบหลักสูตร
องค์ประกอบของหลักสูตร
แบ่งออกได้เป็น 4 หมวดวิชา จำนวน 36 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1. การเมืองและเศรษฐกิจโลก จำนวน 9 ชั่วโมง
2. การเมือง เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จำนวน 9 ชั่วโมง
3. สังคม สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีและสื่อใหม่ จำนวน 12 ชั่วโมง
4. วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 6 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 1 ว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจโลก จำนวน 9 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1.1. ภูมิรัฐศาสตร์โลก : ความเปลี่ยนแปลงกับผลกระทบทุกมิติ จำนวน 3 ชั่วโมง
1.2. เศรษฐกิจโลก วิกฤติซัพพลายเชน ทางออกของโลกยุคใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
1.3. วิกฤติโลกเดือดกับการปรับตัวของไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 2 ว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จำนวน 9 ชั่วโมง
2.1. ดุลอำนาจการเมืองในสังคมไทย หลังเลือกตั้ง 2566 จำนวน 3 ชั่วโมง
2.2. ส่องนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จำนวน 3 ชั่วโมง
2.3. การกระจายอำนาจกับการลดความเหลื่อมล้ำ จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 3 ว่าด้วยสังคม สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีและสื่อใหม่ จำนวน 12 ชั่วโมง
3.1. วิกฤตในกระบวนการยุติธรรมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
3.2. คอร์รัปชันในสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
3.3. Generative AI กับผลกระทบทางธุรกิจและการศึกษาไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
3.4. ภูมิทัศน์สื่อใหม่ กับการสร้างคอนเทนต์บนโลกดิจิทัล จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 4 ว่าด้วยประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 6 ชั่วโมง ประกอบด้วย
4.1. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 1 จำนวน 3 ชั่วโมง
4.2. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ ครั้งที่ 2 จำนวน 3 ชั่วโมง